คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : ผล

1. สิ่งที่เกิดจากเหตุ, ประโยชน์หรือโทษที่ได้รับสนองหรือตอบแทน; “ผล” มีชื่อเรียกหลายอย่างตามความหมายที่จำเพาะหรือที่มีนัยต่างกันออกไป เฉพาะอย่างยิ่งคือ วิบาก (วิบากผล) นิสสันท์ (นิสสันทผล) อานิสงส์ (อานิสงสผล); คำเหล่านี้ มีความหมายก่ายเกยกันอยู่บ้าง และบางทีก็ใช้อย่างหลวมๆ ทำให้ปะปนสับสนกัน แต่ว่าตามความหมายพื้นฐาน วิบาก หมายถึงผลโดยตรงของกรรมต่อชีวิตของตัวผู้กระทำ ไม่ว่าจะเป็นผลดีหรือผลร้ายสุดแต่กรรมดีหรือกรรมชั่วที่เขาได้ทำ, นิสสันท์ หมายถึงผลโดยอ้อมที่สืบเนื่องหรือพ่วงพลอยมากับผลแห่งกรรมนั้น ไม่ว่าจะเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ อันนำมาซึ่งสุขหรือโศก ทั้งที่เกิดแก่ตัวเขาเอง และแก่คนอื่นที่เกี่ยวข้อง (ตัวอย่างดังในหลักปฏิจจสมุปบาทว่า ภพ เป็นวิบาก ชาติชรามรณะ เป็นนิสสันท์, และ โสกะปริเทวะ เป็นต้น เป็นนิสสันท์พ่วงต่อออกไปอีก ซึ่งอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้) และนิสสันท์นั้นใช้ได้กับผลในเรื่องทั่วไป เช่นเอาวัตถุดิบมาเข้าโรงงานอุตสาหกรรมเกิดเป็นนิสสันท์หลั่งไหลออกมา ทั้งที่น่าปรารถนาคือผลิตภัณฑ์ และที่ไม่น่าปรารถนา เช่น กากและของเสียต่างๆ, อานิสงส์ หมายถึงผลดีที่งอกเงย หรือคุณค่าประโยชน์แถมเหมือนเป็นกำไรซึ่งพลอยได้หรือพ่วงเพิ่มสืบเนื่องจากกรรมที่ดี เช่น เอาความรู้ที่เป็นประโยชน์ไปสอนเขา แล้วเกิดมีอานิสงส์ เช่น เขารักใคร่นับถือ ตลอดจนได้ลาภบางอย่างดังนี้ ก็ได้ หมายถึงผลดี คุณค่า ประโยชน์ของการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยทั่วไป ก็ได้, อานิสงส์นี้ ตรงข้ามกับอาทีนพ (หรืออาทีนวะ) ซึ่งหมายถึงโทษ ผลร้าย ส่วนเสีย ข้อบกพร่อง, พึงเห็นตัวอย่างดังพุทธพจน์ว่า (อง.ปญฺจก. 22/227/287) “ภิกษุทั้งหลาย อาทีนพ ในเพราะโภคทรัพย์ ๕ ประการนี้ … คือ โภคทรัพย์เป็นของทั่วไปแก่ไฟ ๑ เป็นของทั่วไปแก่น้ำ ๑ เป็นของทั่วไปแก่ผู้ครองบ้านเมือง ๑ เป็นของทั่วไปแก่โจร ๑ เป็นของทั่วไปแก่ทายาทอัปรีย์ ๑ …ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในเพราะโภคทรัพย์ ๕ ประการนี้ … คือ อาศัยโภคทรัพย์ บุคคลเลี้ยงตนให้เป็นสุข … ๑ เลี้ยงมารดาบิดาให้เป็นสุข … ๑ เลี้ยงบุตรภรรยา คนใช้ กรรมกร และคนงานให้เป็นสุข … ๑ เลี้ยงมิตรสหายและคนใกล้ชิดช่วยกิจการ ให้เป็นสุข ให้อิ่มพอบริหารให้เป็นสุขโดยชอบ ๑ บำเพ็ญทักษิณาในสมณพราหมณ์ทั้งหลายอย่างที่มีผลเลิศ อันให้ประสบสิ่งดีงามมีผลเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ ๑ …”

ดังที่กล่าวแล้วว่า การใช้คำเหล่านี้เมื่อลงสู่รายละเอียด บางทีก็มีความแตกต่างและซับซ้อนสับสนบ้าง เช่น ในกรณีที่คำว่า “ผล” กับ “วิบาก” มาด้วยกันอย่างในคำว่า “ผลวิบาก (คือผลและวิบาก) ของกรรมที่ทำดีทำชั่ว…” ท่านอธิบายว่า “ผล” หมายถึงนิสสันทผล (รวมทั้งอานิสงสผล) และ “วิบาก” ก็คือวิบากผล แต่ในสำนวนว่า “มีผลมาก มีอานิสงส์มาก” บางคัมภีร์ (ดู ปฏิสํ.อ.๒/๖๒/๕๔; ที.อ.๒/๔๓๘/๔๒๙) อธิบายว่า “ที่ว่าไม่มีผลมาก คือโดยวิบากผล ที่ว่าไม่มีอานิสงส์มาก คือโดยนิสสันทผล (หรือโดยอานิสงสผล)” แต่บางคัมภีร์ (ดู ม.อ.1/65/171; ม.อ.2/89/220; องฺ.อ.๓/๖๖๓/๓๕๗) อธิบายว่า “ที่ว่ามีผลมาก มีอานิสงส์มากนั้น ทั้งสองอย่าง โดยความหมายก็อย่างเดียวกัน” และบางทีก็ให้ความหมายเพิ่มอีกนัยหนึ่งว่า “มีผลมาก คืออำนวยโลกิยสุขมาก มีอานิสงส์มาก คือเป็นปัจจัยแห่งโลกุตตรสุขอันยิ่งใหญ่”; ดู นิสสันท์, วิบาก, อานิสงส์

2. ชื่อแห่งโลกุตตรธรรมคู่กับมรรคและเป็นผลแห่งมรรค มี ๔ ชั้น คือ โสดาปัตติผล ๑ สกทาคามิผล ๑ อนาคามิผล ๑ อรหัตตผล ๑; คู่กับ มรรค