คำศัพท์ :
พรสิ่งที่อนุญาตหรือให้ตามที่ขอ, สิ่งประสงค์ ที่ขอให้ผู้อื่นอนุญาตหรืออำนวยให้, สิ่งที่ปรารถนา ซึ่งเมื่อได้รับโอกาสแล้ว จะขอจากผู้มีศักดิ์หรือมีฐานะที่จะยอมให้ หรือเอื้ออำนวยให้เป็นข้ออนุญาตพิเศษ เป็นรางวัล หรือเป็นผลแห่งความโปรดปรานหรือเมตตาการุณย์, ดังพรสำคัญต่อไปนี้ เป็นตัวอย่าง
พร ที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงขอจากพระพุทธเจ้า กล่าวคือ เมื่อเจ้าชายราหุลทูลขอทายัชชะ (สมบัติแห่งความเป็นทายาท) พระพุทธเจ้าได้โปรดให้เจ้าชายราหุลบรรพชา เพื่อจะได้โลกุตตรสมบัติโดยพระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นพระพุทธบิดาทรงทราบ ก็ได้เสด็จมาทรงขอพรจากพระพุทธเจ้า ขอให้พระภิกษุทั้งหลายไม่บวชบุตรที่มารดาบิดายังมิได้อนุญาต จึงได้มีพุทธบัญญัติข้อนี้สืบมา (วินย.4/118/168)
พร ๘ ประการ ที่นางวิสาขาทูลขอคือ ตลอดชีวิตของตนปรารถนาจะขอถวายผ้าวัสสิกสาฏิกา ถวายอาคันตุกภัตถวายคมิกภัต ถวายคิลานภัต ถวายคิลานุปัฏฐากภัต ถวายคิลานเภสัช ถวายธุวยาคู แก่สงฆ์ และถวายอุทกสาฏิกาแก่ภิกษุณีสงฆ์ จึงได้มีพุทธานุญาตผ้า ภัตและเภสัชเหล่านี้สืบมา (วินย.5/153/210)
พร ๘ ประการ ที่พระอานนท์ทูลขอ (ทำนองเป็นเงื่อนไข) ในการที่จะรับหน้าที่เป็นพระพุทธอุปฐากประจำ แยกเป็น ก) ด้านปฏิเสธ ๔ ข้อ คือ ๑. ถ้าพระองค์จักไม่ประทานจีวรอันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์ ๒. ถ้าพระองค์จักไม่ประทานบิณฑบาตอันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์ ๓. ถ้าพระองค์จักไม่โปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในพระคันธกุฎีที่ประทับของพระองค์ ๔. ถ้าพระองค์จักไม่ทรงพาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์ และ ข) ด้านขอรับ ๔ ข้อ คือ ๕. ถ้าพระองค์จะเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับไว้ ๖. ถ้าข้าพระองค์จักพาบริษัทซึ่งมาเพื่อเฝ้าพระองค์แต่ที่ไกลนอกรัฐนอกแคว้นเข้าเฝ้าได้ในขณะที่มาแล้ว ๗. ถ้าข้าพระองค์จักได้เข้าเฝ้าทูลถามในขณะเมื่อความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้น ๘. ถ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมอันใดในที่ลับหลังข้าพระองค์ จักเสด็จมาตรัสบอกธรรมอันนั้นแก่ข้าพระองค์, พระพุทธเจ้าตรัสถามท่านว่าเห็นอาทีนพคือผลเสียอะไรใน ๔ ข้อต้น และเห็นอานิสงส์คือผลดีอะไรใน ๔ ข้อหลัง จึงขออย่างนี้เมื่อพระอานนท์ทูลชี้แจงแล้ว ก็ทรงอนุญาตตามที่ท่านขอ (เช่น ที.อ.๒/๑๔)
(ข้อชี้แจงของพระอานนท์ คือ ถ้าข้าพระองค์ไม่ได้พร ๔ ข้อต้น จักมีคนพูดได้ว่า พระอานนท์ได้ลาภอย่างนั้น จึงบำรุงพระศาสดา ผู้อุปฐากอย่างนี้จะเป็นภาระอะไร ถ้าข้าพระองค์ไม่ได้พรข้อข้าง
ปลาย จักมีคนพูดได้ว่า พระอานนท์บำรุงพระศาสดาอย่างไรกัน ความอนุเคราะห์แม้เพียงเท่านี้ พระองค์ก็ยังไม่ทรงกระทำ สำหรับพรข้อสุดท้าย จักมีผู้ถามข้าพระองค์ในที่ลับหลังพระองค์ว่า ธรรมนี้ๆ พระองค์ทรงแสดงที่ไหนถ้าข้าพระองค์บอกไม่ได้ ก็จะมีผู้พูดได้ว่า แม้แต่เรื่องเท่านี้ท่านยังไม่รู้ ท่านจะเที่ยวตามเสด็จพระศาสดาดุจเงาไม่ละพระองค์ตลอดเวลายาวนาน ไปทำไม)
พรตามตัวอย่างข้างต้นนี้ เป็นข้อที่แสดงความประสงค์ของอริยสาวกและอริยสาวิกา จะเห็นว่าไม่มีเรื่องผลได้แก่ ตนเองของผู้ขอ ส่วนพรที่ปุถุชนขอ มีตัวอย่างที่เด่น คือ
พร ๑๐ ประการ (ทศพร) ที่พระผุสดีเทวีทูลขอกะท้าวสักกะ เมื่อจะจุติจากเทวโลกมาอุบัติในมนุษยโลก ได้แก่ ๑. อคฺคมเหสิภาโว ขอให้ได้ประทับในพระราชนิเวศน์ (เป็นอัครมเหสี) ของพระเจ้าสีวิราช ๒. นีลเนตฺตตา ขอให้มีดวงเนตรดำดังตาลูกมฤคี ๓. นีลภมุกตา ขอให้มีขนคิ้วสีดำนิล ๔. ผุสฺสตีติ นามํ ขอให้มีนามว่า ผุสดี ๕. ปุตฺตปฏิลาโภ ขอให้ได้พระราชโอรส ผู้ให้สิ่งประเสริฐ มีพระทัยโอบเอื้อ ปราศความตระหนี่ ผู้อันราชาทั่วทุกรัฐบูชา มีเกียรติยศ ๖. อนุนฺนตกุจฺฉิตา เมื่อทรงครรภ์ขออย่าให้อุทรป่องนูน แต่พึงโค้งดังคันธนูที่นายช่างเหลาไว้เรียบเกลี้ยงเกลา ๗. อลมฺพตฺถนตา ขอยุคลถันอย่าได้หย่อนยาน ๘. อปลิตภาโว ขอเกศาหงอกอย่าได้มี ๙. สุขุมจฺฉวิตา ขอให้มีผิวเนื้อละเอียดเนียนธุลีไม่ติดกาย ๑๐. วชฺฌปฺปโมจนสมตฺถตา ขอให้ปล่อยนักโทษประหารได้ (ขุ.ชา.28/1048/365)
ในภาษาไทย “พร” มีความหมายเพี้ยนไป กลายเป็นคำแสดงความปรารถนาดี ซึ่งกล่าวหรือให้โดยไม่ต้องมีการขอหรือการแสดงความประสงค์ของผู้รับ และมักไม่คำนึงว่าจะมีการปฏิบัติหรือทำให้สำเร็จเช่นนั้นหรือไม่
“พร” ที่นิยมกล่าวในภาษาไทย เช่นว่า “จตุรพิธพร” (พรสี่ประการ) นั้น ในภาษาบาลีเดิมไม่เรียกว่า “พร” แต่เรียกว่า “ธรรม” บ้าง ว่า “ฐานะ” บ้าง ดังในพุทธพจน์ว่า “ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติอภิวาท อ่อนน้อมต่อวุฒชนเป็นนิตย์” (ขุ.ธ.25/18/29)
ธรรม หรือฐานะที่เรียกอย่างไทยได้ว่าเป็นพรอย่างนี้ ในพระไตรปิฎกมีอีกหลายชุด มีจำนวน ๕ บ้าง ๖ บ้าง ๗ บ้างที่ควรทราบ คือ ฐานะ ๕ อันเรียกได้ว่าเป็น “เบญจพิธพร” (พรห้าประการ) ดังในพุทธพจน์ว่า “ทายกผู้ให้โภชนะ ชื่อว่าย่อมให้ฐานะ ๕ ประการ แก่ปฏิคาหกกล่าวคือ ให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ครั้นให้ ... แล้ว ย่อมเป็นภาคี แห่งอายุ ... วรรณะ ... สุขะ ... พละ ...ปฏิภาณ ที่เป็นทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์ ก็ตาม” (องฺ.ปญฺจก.22/37/44)
ธรรม หรือฐานะ ๕ อันเรียกได้ว่าเป็น “เบญจพิธพร” (พรห้าประการ) อีกชุดหนึ่งที่ควรนำมาปฏิบัติ พึงศึกษาในพุทธพจน์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในแดนโคจรของตน อันสืบมาแต่บิดา... เมื่อเที่ยวไปในแดนโคจรของตน อันสืบมาแต่บิดา เธอทั้งหลายจักเจริญ ทั้งด้วยอายุ ...ทั้งด้วยวรรณะ...ทั้งด้วยสุข ...ทั้งด้วยโภคะ ...ทั้งด้วยพละ” และทรงไขความไว้ว่า สำหรับภิกษุ อายุ อยู่ที่อิทธิบาท ๔ วรรณะอยู่ที่ศีล สุข อยู่ที่ฌาน ๔ โภคะ อยู่ที่อัปปมัญญา (พรหมวิหาร) ๔ พละ อยู่ที่วิมุตติ (เจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติที่หมดสิ้นอาสวะ) (ที.ปา.11/50/85) ส่วนแดนโคจรของตน ที่สืบมาแต่บิดา ก็คือ สติปัฏฐาน ๔ (สํ.ม.19/700/198)