คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : พระพุทธเจ้า

พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบแล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม, ท่านผู้รู้ดีรู้ชอบด้วยตนเองก่อนแล้ว สอนประชุมชนให้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ; พระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ที่ใกล้กาลปัจจุบันที่สุดและคัมภีร์กล่าวถึงบ่อยๆ คือ พระวิปัสสี พระสิขี พระเวสสภู พระกกุสันธะพระโกนาคมน์ พระกัสสป และพระโคดม; พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์แห่งภัทรกัปปัจจุบันนี้ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมน์ พระกัสสป พระโคดม และพระเมตเตยยะ (เรียกกันสามัญว่า พระศรีอารย์ หรือ พระศรีอริยเมตไตรย); พระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์นับแต่พระองค์แรกที่พระโคตมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) ได้ทรงพบและทรงได้รับการพยากรณ์ว่าจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า (รวม ๒๔ พระองค์) จนถึงพระองค์เองด้วย คือ ๑. พระทีปังกร ๒. พระโกณฑัญญะ ๓. พระมังคละ ๔.พระสุมนะ ๕. พระเรวตะ ๖. พระโสภิตะ ๗. พระอโนมทัสสี ๘. พระปทุมะ ๙.พระนารทะ ๑๐. พระปทุมุตตระ ๑๑.พระสุเมธะ ๑๒. พระสุชาตะ ๑๓. พระปิยทัสสี ๑๔. พระอัตถทัสสี ๑๕. พระธัมมทัสสี ๑๖. พระสิทธัตถะ ๑๗. พระติสสะ ๑๘. พระปุสสะ ๑๙. พระวิปัสสี ๒๐. พระสิขี ๒๑. พระเวสสภู ๒๒. พระกกุสันธะ ๒๓. พระโกนาคมน์ ๒๔.พระกัสสปะ ๒๕. พระโคตมะ (เรื่องมาในคัมภีร์พุทธวงส์ แห่งขุททกนิกายพระสุตตันตปิฎก); ดู พุทธะ ด้วย

พระนามต่างๆ เพื่อกล่าวถึงพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นคำกลางๆ ใช้แก่พระองค์ใดก็ได้ มีมากมาย เช่น ที่ประมวลไว้ในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา (คาถาที่ ๑-๔) มี ๓๒ คำ (ในที่นี้ ได้ปรับตัวสะกด และจัดเรียงตามลำดับอักษรอย่างภาษาไทย) คือ จักขุมา, ชินะ, ตถาคต, ทศพล, ทิปทุตตมะ (ทิปโทดม), เทวเทพ, ธรรมราชา, ธรรมสวามี, นรวระ, นรสีห์, นาถะ, นายก, พุทธะ, ภควา (พระผู้มีพระภาค), ภูริปัญญะ, มหามุนี, มเหสิ (มเหสี ก็ใช้), มารชิ, มุนี, มุนินท์, (มุนินทร์ ก็ใช้), โลกครุ, โลกนาถ, วรปัญญะ, วินายก, สมันตจักขุ (สมันตจักษุ), สยัมภู, สัตถา (พระศาสดา), สัพพัญญู, สัมมาสัมพุทธ,สุคต, อนธิวร, อังคีรส; และสำหรับพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน มีพระนามเฉพาะเพิ่มอีก ๗ คำ คือ โคตมะ สักกะ (ศากยะ) สักยมุนิ (ศากยมุนี) สักยสีห (ศากยสิงห์) สิทธัตถะ สุทโธทนิ อาทิจจพันธุ์; ดู อังคีรส ด้วย

ข้อควรทราบบางประการเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ตามที่ตรัสไว้ในคัมภีร์พุทธวงส์ (โคตมพุทฺธวํส, ขุ.พุทธ.33/26/543) คือ พระองค์เป็นพระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม (โคตมพุทธ) เจริญในศากยสกุล พระนครอันเป็นถิ่นกำเนิดชื่อกบิลพัสดุ์ พระบิดาคือพระเจ้าสุทโธทนะ พระมารดามีพระนามว่ามายาเทวี ทรงครองฆราวาสอยู่ ๒๙ ปี มีปราสาท ๓ หลังชื่อ สุจันทะ โกกนุทและโกญจะ มเหสีพระนามว่ายโสธราโอรสพระนามว่าราหุล ทอดพระเนตรเห็นนิมิต ๔ ประการแล้ว เสด็จออกผนวชด้วยม้าเป็นราชยาน บำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ ๖ ปี ประกาศธรรมจักรที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระอัครสาวกทั้งสอง คือ พระอุปติสสะ (พระสารีบุตร) และพระโกลิตะ (พระมหาโมคคัลลานะ) พุทธอุปัฏฐากชื่อว่าพระอานนท์ พระอัครสาวิกาทั้งสอง คือพระเขมา และพระอุบลวรรณา อัครอุปัฏฐากอุบาสก คือ จิตตคฤหบดี และหัตถกะอาฬวกะ อัครอุปัฏฐายิกาอุบาสิกาคือ นันทมารดา (หมายถึง เวฬุกัณฏกีนันทมารดา) และอุตตรา (หมายถึง ขุชชุตรา) บรรลุสัมโพธิญาณที่ควงไม้อัสสัตถพฤกษ์ (คือ ไม้อัสสัตถะเป็นต้นโพธิ์) มีสาวกสันนิบาต (การประชุมพระสาวก) ครั้งใหญ่ ครั้งเดียวภิกษุผู้เข้าร่วมประชุม ๑,๒๕๐ รูป ถึงจะดำรงชนม์อยู่ภายในอายุขัยเพียงร้อยปีก็ช่วยให้หมู่ชนข้ามพ้นวัฏสงสารได้มากมาย ทั้งตั้งคบเพลิงธรรมไว้ปลุกคนภาย หลังให้เกิดมีปัญญาได้ตรัสรู้ต่อไป