ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31
[คลิก]
คำศัพท์ : กรรมวาท
ผู้ประกาศหลักกรรม หรือผู้ถือหลักกรรม เช่น ยืนยันว่ากรรมคือการกระทำมีและมีผลจริง ว่าแต่ละคนมีกรรมเป็นของตนและเป็นไปตามกรรมนั้น ว่าการกระทำเป็นเครื่องตัดสินความดีเลวสูงทราม (มิใช่ชาติกำเนิดตัดสิน) ว่าการกระทำเป็นเหตุปัจจัยให้สำเร็จผล (มิใช่สำเร็จด้วยการอ้อนวอนดลบันดาลหรือแล้วแต่โชค) เป็นต้น; หลักการแห่งกรรม, การถือหลักกรรม; พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระองค์เอง (องฺติก.20/577/369) ว่าทรงเป็น กรรมวาท (ถือหลักหรือกฎแห่งการกระทำ) กิริยวาท (ถือหลักการอันให้กระทำ) และวิริยวาท (ถือหลักความเพียร); บางทีกล่าวถึงพระกิตติคุณของพระพุทธเจ้า (เช่น ที.สี.9/182/147) ว่าทรงเป็นกรรมวาที กิริยวาที (คือเป็นกรรมวาท และกิริยวาท นั่นเอง ต่างกันเพียงว่า กรรมวาท และกิริยวาท เป็นได้ทั้งคำคุณศัพท์ของบุคคล และคำนามแสดงหลักการ ส่วนกรรมวาที และกิริยวาที เป็นคุณศัพท์อย่างเดียว)