คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : อธิษฐาน

1. ในทางพระวินัย แปลว่า การตั้งเอาไว้ ตั้งใจกำหนดแน่นอนลงไป เช่น อธิษฐานพรรษา ตั้งเอาไว้เป็นของเพื่อการนั้นๆ หรือตั้งใจกำหนดลงไปว่าให้เป็นของใช้ประจำตัวชนิดนั้นๆ เช่น ได้ผ้ามาผืนหนึ่ง ตั้งใจว่าจะใช้เป็นอะไร คือ จะเป็นสังฆาฏิ อุตตราสงค์ อันตรวาสก ก็อธิษฐานเป็นอย่างนั้นๆ เมื่ออธิษฐานแล้ว ของนั้นเรียกว่าเป็นของอธิษฐาน เช่น เป็นสังฆาฏิอธิษฐาน จีวรอธิษฐาน (นิยมเรียกกันว่า จีวรครอง) ตลอดจนบาตรอธิษฐาน ส่วนของชนิดนั้น ที่ได้เพิ่มมาอีกหรือเกินจากนั้นไปก็เป็นอติเรก เช่น เป็นอติเรกจีวร, อติเรกบาตร, คำอธิษฐาน เช่น “อิมํ สงฺฆาฏึ อธิฏฺฐามิ” (ถ้าอธิษฐานของอื่น ก็เปลี่ยนไปตามชื่อของนั้น เช่นว่า อุตฺตราสงฺคํ, อนฺตรวาสกํ, ปตฺตํ เป็นต้น); ดู วิกัป, ปัจจุทธรณ์ 2. ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว, ความตั้งใจมั่นแน่วที่จะทำการให้สำเร็จลุจุดหมาย, ความตั้งใจหนักแน่นเด็ดเดี่ยวว่าจะทำการนั้นๆ ให้สำเร็จ และมั่นคงแน่วแน่ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน เป็นบารมีอย่างหนึ่ง เรียกว่า อธิษฐานบารมี หรืออธิฏฐานบารมี (ข้อ ๘ ในบารมี ๑๐) 3. ธรรมเป็นที่มั่น, ในแบบเรียนธรรมของไทย เรียกว่า อธิษฐานธรรม; ดู อธิษฐานธรรม 4. ในภาษาไทย ใช้เป็นคำกริยา และมักมีความหมายเพี้ยนไปว่า ตั้งใจมุ่งขอให้ได้ผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ตั้งจิตปรารถนาเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งจิตขอต่อสิ่งที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ให้สำเร็จผลอย่างใดอย่างหนึ่ง; มีข้อสังเกตว่า ในความหมายเดิม อธิษฐานเป็นการตั้งใจที่จะทำ (ให้สำเร็จด้วยความพยายามของตน) แต่ความหมายในภาษาไทยกลายเป็นอธิษฐานโดยตั้งใจขอเพื่อจะได้หรือจะเอา เฉพาะอย่างยิ่งด้วยอำนาจดลบันดาลโดยตนเองไม่ต้องทำ (บาลี: อธิฏฺฐาน)