คำศัพท์ :
อธิกมาส“เดือนที่เกิน”, เดือนที่เพิ่มขึ้นในปีจันทรคติ (คือในปีนั้นมีเดือน ๘ สองหน รวมเป็น ๑๓ เดือน)
การที่ต้องมีอธิกมาสนั้น เนื่องจากเดือนจันทรคติสั้นกว่าเดือนสุริยคติ คือ เดือนจันทรคติมี ๓๐ วัน (เดือนคู่หรือเดือนเต็ม) บ้าง มี ๒๙ วัน (เดือนคี่หรือเดือนขาด) บ้าง รวมปีหนึ่งมี ๓๕๔ วัน, ส่วนเดือนสุริยคติมี ๓๐ วันบ้าง มี ๓๑ วันบ้าง (เว้นเดือนกุมภาพันธ์ที่มี ๒๘ วัน) รวมปีหนึ่งมี ๓๖๕ วัน, ดังนั้น ปีจันทรคติจึงสั้นกว่าปีสุริยคติ ๑๑ วัน, เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ วันเดือนปีแบบจันทรคติก็จะห่างกับวันเดือนปีแบบสุริยคติมากขึ้นไปเรื่อยๆ และจะไม่ตรงกับฤดูกาลจนกระทั่งเข้าพรรษาก็จะไม่ตรงฤดูฝน จึงต้องมีวิธีที่จะปรับปีจันทรคติให้ตรงหรือให้ใกล้เคียงกับปีสุริยคติ
ด้วยเหตุที่ปีจันทรคติสั้นกว่าปีสุริยคติ ๑๑ วัน เมื่อผ่านไป ๓ ปี ก็จะสั้นกว่ารวมได้ ๓๓ วัน จึงวางเป็นหลักมาแต่โบราณว่า ทุก ๓ ปีจันทรคติ ให้เพิ่มเดือนแปดขึ้นมาอีกเดือนหนึ่ง (คือเพิ่มขึ้น ๓๐ วัน) จึงเป็นเดือนแปดสองหนและเรียกเดือนแปดที่เพิ่มขึ้นมานั้นว่า “อธิกมาส”, ส่วนที่ยังขาดอีก ๓ วัน ให้กระจายไปเติมในปีต่างๆ โดยเพิ่มเดือน ๗ ที่เป็นเดือนขาดมี ๒๙ วัน ให้ปีนั้นๆ เป็นเดือนเต็ม มี ๓๐ วัน (มีแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๗) และเรียกวันที่เพิ่มขึ้นท้ายเดือน ๗ นั้นว่า “อธิกวาร”
ตามวิธีคำนวณที่กล่าวมานั้น สามปีมีอธิกมาสครั้งหนึ่ง ก็คือ ๑๘ ปีมีอธิกมาส ๖ ครั้ง (และเหมือนจะต้องมีอธิกวารทุกปี) แต่เมื่อคำนวณละเอียด ปรากฏว่ายังไม่ตรงแท้ เช่นว่า ปีสุริยคติมิใช่มี ๓๖๕ วันถ้วน แต่มี ๓๖๕.๒๔๒๑๙๙ วัน (ดังที่ทุก ๔ ปี ต้องเพิ่มปีสุริยคติเป็น ๓๖๖ วัน โดยให้เดือนกุมภาพันธ์เพิ่มจาก ๒๘ เป็น ๒๙ วัน), พร้อมกันนั้น ปีจันทรคติก็มิใช่มี ๓๕๔ วันถ้วน แต่มี ๓๕๔.๓๖ วัน ดังนี้เป็นต้น, เมื่อจะให้ปฏิทินแม่นยำมากขึ้น จึงได้วางหลักที่ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิมเป็นว่า ในรอบ ๑๙ ปี ให้มีอธิกมาส ๗ ครั้ง (ส่วนอธิกวารก็ห่างออกไปประมาณ ๕-๗ ปี หรือบางทีนานกว่านั้นจึงมีครั้งหนึ่ง และถือเป็นหลักว่า ไม่ให้เพิ่มอธิกวารในปีอธิกมาส คือปีอธิกมาสต้องเป็นปกติวาร)
อนึ่ง เมื่อจะเทียบกับปีที่มีอธิกมาสจึงเรียกปีปกติที่ไม่มีอธิกมาส ว่าเป็นปกติมาส