ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31
[คลิก]
คำศัพท์ : อตัมมยตา
“ภาวะที่ไม่เนื่องด้วยสิ่งนั้น”, “ความไม่เกาะเกี่ยวกับมัน”, ความเป็นอิสระ ไม่ติดไม่ข้องไม่ค้างใจกับสิ่งใดๆ
ไม่มีอะไรยึดถือผูกพันที่จะได้จะมีจะเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ได้แก่ความปลอดพ้นปราศจากตัณหา (รวมทั้งมานะและทิฏฐิที่เนื่องกันอยู่), ภาวะไร้ตัณหา; อตัมมยตา (รวมทั้ง “อตัมมโย” หรืออตัมมัย ที่เป็นคุณศัพท์) พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ในพระสูตร ๔ สูตร และมาในคำอธิบายของพระสารีบุตรในคัมภีร์มหานิทเทสอีก ๑ แห่ง พระพุทธพจน์และคำอธิบายดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจความประณีตแห่งธรรมที่ปัญญาอันรู้จำแนกแยกแยะจะมองเห็นความยิ่งความหย่อน และความเหมาะควรพอดี ถูกผิดขั้นตอนหรือไม่ เป็นต้น ในการปฏิบัติ โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อการปฏิบัติของตน เช่น ท่านกล่าวว่า (ขุ.ม.29/338/228) สำหรับอกุศลธรรม เราควรสลัดละ แต่สำหรับกุศลธรรมทั้งสามภูมิเราควรมีอตัมมยตา (ความไม่ติดยึด), ในสัปปุริสสูตร (ม.อุ.14/191/141) พระพุทธเจ้าตรัสแสดงสัปปุริสธรรม และอสัปปุริสธรรม ให้เห็นความแตกต่างระหว่างอสัตบุรุษ กับสัตบุรุษว่า อสัตบุรุษถือเอาคุณสมบัติ การปฏิบัติ หรือความก้าวหน้าความสำเร็จในการปฏิบัติของตน เช่น ความมีชาติตระกูลสูง ลาภยศ ความเป็นพหูสูต ความเป็นธรรมกถึก การถือธุดงค์ มีการอยู่ป่าอยู่โคนไม้ เป็นต้น จนถึงการได้ฌานสมาบัติ มาเป็นเหตุยกตน-ข่มผู้อื่น ส่วนสัตบุรุษจะมีดีหรือก้าวไปได้สูงเท่าใด ก็ไม่ถือเป็นเหตุยกตน-ข่มผู้อื่นเช่นนั้น ในเรื่องนี้ มีข้อพึงสังเกตที่สำคัญคือ ในระดับแห่งคุณสมบัติและการถือปฏิบัติทั่วไป สัตบุรุษ “กระทำปฏิปทาไว้ภายใน” (ใจอยู่กับการปฏิบัติที่ถูกต้องเป็นหลักหรือเอาการปฏิบัติที่ถูกต้องมาตั้งเป็นหลักไว้ในใจ) จึงไม่เอาคุณสมบัติใดๆ มาเป็นเหตุให้ยกตน-ข่มผู้อื่น ส่วนในความสำเร็จขั้นฌานสมาบัติ สัตบุรุษ “กระทำอตัมมยตาไว้ภายใน” (ใจอยู่กับอตัมมยตาที่ตระหนักรู้อยู่) จึงไม่ถือการได้ฌานสมาบัติมาเป็นเหตุยกตน-ข่มผู้อื่น (เหนือขั้นฌานสมาบัติขึ้นไป เป็นขั้นถึงความสิ้นอาสวะ ซึ่งเป็นสัตบุรุษอย่างเดียว ไม่มีอสัตบุรุษ จึงไม่มีความสำคัญมั่นหมายอะไรที่จะเป็นเหตุให้ยกตนข่มใครอีกต่อไป), ใน อตัมมยสูตร (องฺ.ฉกฺก.22/375/493) ตรัสว่า อานิสงส์อย่างแรก (ใน ๖ อย่าง) ของการตั้งอนัตตสัญญาอย่างไม่จำเพาะในธรรมทั้งปวง คือจะเป็นผู้อตัมมัยในทั้งโลก, ในวิสุทธิมัคค์ กล่าวถึงอตัมมยตา ที่ตรัสในสฬายตนวิภังคสูตร ว่าเป็น วุฏฐานคามินีวิปัสสนา (ม.อุ.14/632/407; วิสุทฺธิ.๓/๓๑๘)