คำศัพท์ :
เกจิ“บางพวก” หมายถึง อาจารย์บางพวก (เกจิอาจารย์; ใช้ว่า พระเถระบางพวก ก็มีบ้างแต่น้อยแห่ง), เป็นคำที่
กล่าวถึงบ่อยในอรรถกถาทั้งหลาย กล่าวคือ ในเวลาที่พระอรรถกถาจารย์อธิบายความและเล่าเรื่องราวต่างๆ บางครั้งท่านก็ยกมติหรือความเห็นของท่านผู้อื่นมาให้ดูด้วย เมื่อไม่ออกชื่อเจ้าของมติเหล่านั้น ก็ใช้คำว่า “เกจิ” นี้ (ถ้ายกมติอื่นมาอีก ต่อจาก “เกจิ” ก็คือ “อปเร” แต่บางทีมีหลายมติ ก็ต้องใช้คำอื่นอีก โดยเฉพาะ “เอเก” หรือ “อญฺเญ” ก็มีบ้าง) มติของเกจิอาจารย์เหล่านั้น ท่านยกมาให้ดูเพราะเป็นคำอธิบายที่ต่างออกไปบ้างเพียงเพราะมีแง่น่าสนใจบ้าง มีบ่อยครั้งที่ท่านยกมาเพื่อปฏิเสธหรือชี้แจงความผิดพลาด และมีบ้างที่ท่านยกมาโดย
แสดงความเห็นชอบ, การอ้างมติของเกจิอาจารย์อย่างที่ว่านั้น มักมีในกรณีอธิบายหลักพระธรรมวินัยที่อาจจะยากสำหรับคนทั่วไป หรือเรื่องที่ลึกซึ้ง แต่ในที่นี้จะยกตัวอย่างที่เข้าใจง่ายมาดูสักเรื่องหนึ่ง ตามความในอรรถกถาชาดก (ชา.อ.๑/๑๒๔) ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ ธิดามารได้มาสำแดงอาการยั่วยวนต่างๆ ทั้งปรากฏตัวเป็นหญิงสาว เป็นหญิงวัยกลาง และเป็นสตรีผู้ใหญ่ แต่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงใส่พระทัย เมื่อเล่าความตอนนี้ พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า“ส่วนอาจารย์บางพวก (เกจิอาจารย์) กล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงเห็นธิดามารเหล่านั้นเข้ามาหาโดยภาวะเป็นสตรีผู้ใหญ่ จึงทรงอธิษฐานว่า‘หญิงเหล่านี้จงเป็นผู้มีฟันหัก ผมหงอก
อย่างนี้ๆ’ คำของเกจิอาจารย์นั้น ไม่ควรเชื่อถือ เพราะพระศาสดาย่อมไม่ทรงกระทำการอธิษฐานอย่างที่ว่านั้น แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภถึงการละกิเลสของพระองค์เอง ตรัสว่า ‘พวกท่านจงหลีกไปเถิด พวกท่านเป็นเช่นไรจึงพากันพยายามอย่างนี้ ชื่อว่ากรรมเช่นนี้พวกท่านควรกระทำเบื้องหน้าคนที่ยังไม่ปราศจากราคะเป็นต้น แต่ตถาคตละราคะ โทสะ โมหะเสียแล้ว’”
ในภาษาไทย เมื่อไม่นานนักนี้ คำว่า เกจิ หรือ เกจิอาจารย์ ได้มีความหมายเพี้ยนไปจากเดิมห่างไกลมาก กลายเป็นหมายถึงพระภิกษุผู้มีชื่อเสียงเด่นในทางความขลัง (พระขลัง หรืออาจารย์ขลัง) หรือแม้กระทั่งในเชิงไสยศาสตร์, ข้อเพี้ยนที่สำคัญ คือ ๑) ความหมายในทางปัญญาและความใส่ใจในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระธรรมวินัยเลือนรางหรือถูกกลบบัง โดยลัทธิถือความขลังศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ไสยศาสตร์ ๒) “เกจิ” ซึ่งเดิมเป็นเพียงผู้แทรกเสริมหรือเป็นตัวประกอบ กลายมาเป็นตัวหลัก ๓) “เกจิ” ซึ่งเดิมเป็นคำพหูพจน์ที่ไม่ระบุตัว กลายเป็นคำเอกพจน์ที่ใช้เรียกบุคคลผู้มีชื่อเสียงนั้นๆ