ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31
[คลิก]
คำศัพท์ : พหุลธรรมีกถา
ธรรมีกถา หรือธรรมกถาที่ตรัสมาก, พระพุทธดำรัสบรรยายอธิบายธรรม ที่ตรัสเป็นอันมาก, ความในมหาปรินิพพานสูตร เล่าเหตุการณ์เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จผ่านและทรงหยุดประทับในที่หลายแห่ง โดยกล่าวเพียงสั้นๆ อย่างรวบรัด ว่า ณ ที่นั้นๆ (มี ๘ แห่ง เริ่มแต่ ที.ม.10/75/95) พระพุทธเจ้าตรัสพหุลธรรมีกถา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังตัวอย่างว่า “ได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ แม้นั้น ทรงกระทำธรรมีกถาอันนี้แหละเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ‘ศีลเป็นอย่างนี้ สมาธิเป็นอย่างนี้ ปัญญาเป็นอย่างนี้, สมาธิ อันศีลบ่มแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก, ปัญญา อันสมาธิบ่มแล้ว ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก, จิตอันปัญญาบ่มแล้วย่อมหลุดพ้นโดยชอบ จากอาสวะทั้งหลาย คือ จากกามาสวะ ภวาสวะอวิชชาสวะ’”, โดยใจความ ก็คือหลัก ไตรสิกขา; จะใช้ว่า พหุลธัมมีกถา หรือพหุลธรรมกถา ก็ได้
เทียบ พหุลานุสาสนี