ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31
[คลิก]
คำศัพท์ : สามัคคี
ความพร้อมเพรียง, ความกลมเกลียว, ความมีจุดรวมตัวเข้าด้วยกัน หรือมุ่งไปด้วยกัน (โดยวิเคราะห์ว่า อคฺเคน สิขเรน สงฺคตํ สมคฺคํ, สมคฺคภาโว สามคฺคี), คำเสริมที่มักมาด้วยกันกับสามัคคี คือ สังคหะ (ความยึดเหนี่ยวใจให้รวมกัน) อภิวาท (ความไม่วิวาทถือต่าง) และเอกีภาพ (ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน); เมื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมพรักพร้อมกัน เรียกว่า กายสามัคคี (สามัคคีด้วยกาย) เมื่อบุคคลเหล่านั้นมีความชื่นชมยินดีเห็นชอบร่วมกัน พอใจรวมเป็นอย่างเดียวกัน หรืออย่างภิกษุ แม้มิได้ไปร่วมประชุมทำสังฆกรรม แต่มอบให้ฉันทะ เรียกว่า จิตสามัคคี (สามัคคีด้วยใจ); ความพร้อมเพรียงแห่งสงฆ์ คือ สังฆสามัคคี เป็นหลักการสำคัญยิ่งในพระวินัย ที่จะดำรงพระพุทธศาสนา จึงมีพุทธบัญญัติหลายอย่างเพื่อให้สงฆ์มีวิธีปฏิบัติในการรักษาสังฆสามัคคีนั้น ส่วนการทำให้สงฆ์แตกแยก ก็คือการทำลายสงฆ์ เรียกว่า สังฆเภท ถือว่าเป็นกรรมชั่วร้ายแรง ถึงขั้นเป็นอนันตริยกรรม (ถ้ามีการทะเลาะวิวาทบาดหมาง กีดกัั้นกัน ไม่เอื้อเฟื้อกัน ไม่ร่วมมือกัน ไม่ปฏิบัติข้อวัตรต่อกัน ยังไม่ถือว่าสงฆ์แตกกัน แต่เป็นความร้าวรานแห่งสงฆ์ เรียกว่า สังฆราชี แต่เมื่อใดภิกษุทั้งหลายแตกแยกกันถึงขั้นคุมกันเป็นคณะ แยกทำอุโบสถ แยกทำปวารณา แยกทำสังฆกรรม แยกทำกรรมใหญ่น้อยในสีมา เมื่อนั้นเป็นสังฆเภท); หลักธรรมสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เพื่อให้สงฆ์มีสามัคคีเป็นแบบอย่าง ได้แก่ สาราณียธรรม ๖ ส่วนหลักธรรมสำคัญสำหรับเสริมสร้างสามัคคีในสังคมทั่วไป ได้แก่ สังคหวัตถุ ๔