คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : ไตรทิพ, ไตรทิพย์

“แดนทิพย์ทั้งสาม”หรือ “สามแดนเทพ”, ตรงกับคำบาลีว่า“ติทิว” ซึ่งในพระไตรปิฎกพบใช้เฉพาะในคำร้อยกรอง คือคาถา หมายถึงเทวโลกในความหมายอย่างกว้าง ที่รวมทั้งพรหมโลก (คือ กามาวจรเทวโลก รูปาวจรเทวโลก และอรูปาวจรเทวโลก) มักใช้อย่างไม่เจาะจง คือหมายถึงแดนเทพแห่งใดแห่งหนึ่ง อันมักรู้ได้ด้วยข้อความแวดล้อมในที่นั้นว่าหมายถึงแห่งใด เช่น ในคาถาของพระกาฬุทายีเถระ (ขุ.เถร.26/370/348) ว่า “พระนางเจ้ามายา พุทธมารดา มเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ ทรงบริหารพระองค์ผู้เป็นพระโพธิสัตว์มาด้วยพระครรภ์ ครั้นทำลายขันธ์แล้ว ทรงบันเทิงอยู่ในไตรทิพย์” ไตรทิพย์ (ติทิว) ในที่นี้ หมายถึงสวรรค์ชั้นดุสิต, เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งสงบอยู่ ณ ไพรสณฑ์แห่งหนึ่งในแคว้นโกศล พราหมณ์สำคัญคนหนึ่ง พร้อมด้วยศิษย์จำนวนมาก ได้เข้าไปกล่าวข้อความแด่พระองค์เป็นคาถา มีความตอนหนึ่งว่า (สํ.ส.15/710/265) “ท่านมาอยู่ในป่าเปลี่ยวเพียงผู้เดียวอย่างเอิบอิ่มใจ ตัวข้าพเจ้านี้มุ่งหวังไตรทิพย์อันสูงสุด จึงเขม้นหมายถึงการที่จะได้เข้ารวมอยู่กับพระพรหมเจ้าผู้เป็นอธิบดีแห่งโลก เหตุไฉนท่านจึงพอใจป่าวังเวงที่ปราศจากผู้คน ณ ที่นี้ ท่าน กำลังบำเพ็ญตบะเพื่อจะถึงองค์พระพรหมเป็นเจ้ากระนั้นหรือ?” ไตรทิพย์ (ติทิว) ในที่นี้ หมายถึงพรหมโลก, อุบาสิกาท่านหนึ่งซึ่งได้เกิดเป็นเทพบุตรกล่าวคาถาไว้ตอนหนึ่งมีความว่า (ที.ม.10/253/306) “ข้าพเจ้าได้เป็นอุบาสิกาของพระผู้ทรงจักษุ มีนามปรากฏว่า โคปิกา ..ข้าฯ มีจิตเลื่อมใส ได้บำรุงสงฆ์ .. (บัดนี้) ข้าฯ ได้เข้าถึงไตรทิพย์ เป็นบุตรของท้าวสักกะ มีอานุภาพยิ่งใหญ่ มีความรุ่งเรืองมาก ณ ที่นี้ พวกเทวดารู้จักข้าฯ ว่า คปกเทพบุตร” ไตรทิพย์ (ติทิว) ในที่นี้ หมายถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คัมภีร์ชั้นหลังแห่งหนึ่ง (อนุฎีกาแห่งปัญจปกรณ์) กล่าวถึงไตรทิพย์ที่หมายถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ดังอธิบายว่า “ติทิว” คือโลกชั้นที่ ๓ โดยเทียบกันในสุคติภูมิ นับเป็น ๑. มนุษย์ ๒.จาตุมหาราชิกา ๓. ดาวดึงส์

อภิธานัปปทีปิกาฏีกา ซึ่งเป็นคัมภีร์ชั้นหลังมากสักหน่อย (แต่งในพม่า ในยุคที่ตรงกับสมัยสุโขทัย) อธิบายว่า “ชื่อว่า ‘ติทิว’ (ไตรทิพ) เพราะเป็นที่เพลิดเพลินของเทพทั้ง ๓ คือ พระหริ (พระวิษณุ หรือนารายณ์) พระหระ (พระศิวะ หรืออิศวร) และพระพรหม” (ที่จริง หริ-หระ เพิ่งปรากฏเป็นสำคัญขึ้นมาในศาสนาฮินดู หลังพุทธกาลหลายศตวรรษ), ตรีทิพ ก็ว่า
เทียบ ไตรทศ