คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : สูกรมัททวะ

ชื่ออาหารซึ่งนายจุนทะกัมมารบุตร แห่งเมืองปาวา ถวายแด่พระพุทธเจ้า ในวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็นบิณฑบาตมื้อสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าเสวยก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นบิณฑบาตที่มีผลเสมอกับบิณฑบาตที่พระองค์เสวยแล้วได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ และบิณฑบาต ๒ ครั้งนี้มีผลมีอานิสงส์มากยิ่งกว่าบิณฑบาตครั้งอื่นใดทั้งสิ้น (ที.ม.10/126/158; บิณฑบาตที่เสวยในวันตรัสรู้ คือข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดาถวาย), หลังจากเสวยสูกรมัททวะแล้ว พระพุทธเจ้าก็ประชวรหนัก และเมื่อเสด็จถึงเมืองกุสินาราแล้ว ก็เสด็จดับขันธปรินิพพานในราตรีนั้น

"สูกรมัททวะ" นี้ มักแปลกันว่าเนื้อสุกรอ่อน แต่อรรถกถาแปลต่างเป็นหลายนัย อรรถกถาแห่งหนึ่งให้ความหมายไว้ถึง ๔ อย่าง (อุ.อ.๔๒๗) ว่า ๑. มหาอัฏฐกถาซึ่งเป็นอรรถกถาโบราณบอกไว้ว่าเป็นเนื้อหมู ที่นุ่มรสสนิท ๒. อาจารย์บางพวกว่าเป็นหน่อไม้ ที่หมูชอบไปดูดย่ำ ๓. อาจารย์อีกพวกหนึ่งว่าเป็นเห็ด ซึ่งเกิดในบริเวณที่หมูดุดย่ำและ ๔. ยังมีอาจารย์พวกอื่นอีกว่าเป็นยาอายุวัฒนะขนานหนึ่ง ส่วนอรรถกถาอีกแห่งหนึ่ง (ที.อ.๒/๑๗๒) บอกความหมายไว้ ๓ นัยว่า เป็นเนื้อหมูตัวเอกที่ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป บ้างว่าเป็นข้าวที่นุ่มนวลกลมกล่อม ซึ่งมีวิธีปรุงโดยใช้เบญจโครส (ผลผลิตจากน้ำนมโค ๕ อย่าง คือ นมสด นมเปรี้ยว เปรียง เนยใส เนยข้น) บ้างว่าเป็นอายุวัฒนะ
ดู พุทธปรินิพพาน