คำศัพท์ :
กฐินตามศัพท์แปลว่า “ไม้สะดึง” คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร; ในทางพระวินัยใช้เป็นชื่อเรียกสังฆกรรมอย่างหนึ่ง (ในประเภทญัตติทุติยกรรม) ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่สงฆ์ ที่มีภิกษุจำนวน ๕ รูปขึ้นไป ผู้จำพรรษาครบ ๓ เดือนในวัดเดียวกันแล้วให้กระทำ เพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของภิกษุที่ได้จำพรรษาอยู่ร่วมกัน โดยให้พวกเธอพร้อมใจกันยกมอบผ้าผืนหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ที่เป็นผู้มีคุณสมบัติสมควร แล้วภิกษุรูปนั้นนำผ้าที่ได้รับมอบไปทำเป็นจีวร (จะทำเป็นอันตรวาสก หรืออุตราสงค์ หรือสังฆาฏิก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง และพวกเธอทั้งหมดจะต้องช่วยภิกษุนั้นทำ) ครั้นทำเสร็จภิกษุรูปนั้นถอนจีวรเก่าและทำพินทุกัปปะอธิษฐานจีวรใหม่เสร็จ เรียกว่า
กรานกฐินแล้ว เธอแจ้งให้ที่ประชุมสงฆ์ซึ่งได้มอบผ้าแก่เธอนั้นทราบว่าเธอได้กรานกฐินเสร็จแล้ว จึงขอให้สงฆ์อนุโมทนา เมื่อสงฆ์คือที่ประชุมแห่งภิกษุเหล่านั้นอนุโมทนาแล้ว ก็ทำให้พวกเธอได้สิทธิพิเศษที่จะขยายเขตทำจีวรให้ยาวออกไป (เขตทำจีวรตามปกติถึงกลางเดือน ๑๒ ขยายต่อออกไปถึงกลางเดือน ๔)
ผ้าที่สงฆ์ยกมอบให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งนั้นเรียกว่า ผ้ากฐิน (กฐินทุสสะ); ผ้าที่เกิดมีแก่สงฆ์ที่จะมอบให้นี้ จะเป็นผ้าเก่า ผ้าใหม่ หรือผ้าบังสุกุลก็ได้ จะเป็นผ้าที่ญาติโยมคฤหัสถ์ถวาย หรือพระอื่นให้ก็ได้ (ทั้งนี้จะไปขอใครไม่ได้เป็นอันขาด แม้แต่จะไปเลียบเคียงก็ไม่ได้ ถ้ามีพระไปเที่ยวพูดเลียบเคียงแล้วโยมถวายมา ถือว่าเป็นโมฆะ เรียกว่า กฐินเดาะ แปลว่า กฐินนั้นเสียไปแล้ว ไม่มีผล)
ที่นิยมปฏิบัติกันมาเป็นประเพณีในเมืองไทยจนบัดนี้ คือคฤหัสถ์ผู้ศรัทธานำผ้าที่ตัดเย็บเป็นจีวรสำเร็จรูป (คำพระเรียกว่าผ้ามีบริกรรมสำเร็จแล้ว) มาถวายแก่สงฆ์ซึ่งจำพรรษาครบแล้วนั้นเรียกว่า “ทอดกฐิน”
สงฆ์ผู้ประกอบกฐินกรรมต้องมีจำนวนภิกษุผู้จำพรรษาในวัดเดียวกันอย่างน้อย ๕ รูป; ระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ประกอบกฐินกรรมได้มีเพียง ๑ เดือนต่อจากสิ้นสุดการจำพรรษา เรียกว่า เขตกฐิน คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
ภิกษุผู้กรานกฐินแล้ว ย่อมได้อานิสงส์ ๕ ประการ (เหมือนอานิสงส์การจำพรรษา; ดู จำพรรษา) ยืดออกไปอีก ๔ เดือน (ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔) และได้โอกาสขยายเขตจีวรกาลออกไปตลอด ๔ เดือนนั้น
คำถวายผ้ากฐิน แบบสั้นว่า: “อิมํ, สปริวารํ, กฐินจีวรทุสฺสํ, สงฺฆสฺส, โอโณชยาม” (ว่า ๓ จบ) แปลว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารนี้แก่พระสงฆ์”
แบบยาวว่า: “อิมํ, ภนฺเต, สปริวารํ, กฐินจีวรทุสฺสํ, สงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, สงฺโฆ, อิมํ, สปริวารํ, กฐินทุสฺสํ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, ปฏิคฺคเหตฺวา จ, อิมินา ทุสฺเสน, กฐินํ, อตฺถรตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย” แปลว่า “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารนี้แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐินกับทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ครั้นรับแล้ว จงกรานกฐินด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญฯ” (เครื่องหมาย , ใส่ไว้เพื่อเป็นที่กำหนดที่จะกล่าวเป็นตอนๆ ในพิธี); กถิน ก็เขียน
ดู กรานกฐิน (พร้อมคำกราน คำอนุโมทนา)