คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : ยถากรรม

“ตามกรรม” ตามปกติใช้ในข้อความที่กล่าวถึงคติหลังสิ้นชีวิต เมื่อเล่าเรื่องอย่างรวบรัด ทำนองเป็นสำนวนแบบในการสอนให้คำนึงถึงการทำกรรมส่วนมากใช้ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมาเช่นว่า “กุลบุตรนั้น เมื่อเศรษฐีล่วงลับไปแล้ว ก็ได้ตำแหน่งเศรษฐีในเมืองนั้นดำรงอยู่ตลอดอายุแล้ว ก็ไปตามยถากรรม” (คือ ไปเกิดตามกรรมดีและชั่วที่ตัวได้ทำไว้), “พระราชาตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ทำบุญทั้งหลายแล้วไปตามยถากรรม” (คือไปเกิดตามกรรมดีที่ได้ทำ), ข้อความว่า “ไปตามยถากรรม” นี้ เฉพาะในอรรถกถาชาดกอย่างเดียวก็มีเกือบร้อยแห่ง, ในพระไตรปิฎก คำนี้แทบไม่ปรากฏที่ใช้ แต่ก็พบบ้างสัก ๒ แห่ง คือในรัฐปาลสูตร (ม.ม.13/449/409) และเฉพาะอย่างยิ่งในอัยยิกาสูตร (สํ.ส.15/401/142) ที่ว่า ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและกราบทูลว่า พระอัยยิกาซึ่งเป็นที่รักมากของพระองค์ มีพระชนม์ได้ ๑๒๐ พรรษา ได้ทิวงคตเสียแล้ว ถ้าสามารถเอาสิ่งมีค่าสูงใดๆแลกเอาพระชนม์คืนมาได้ ก็จะทรงทำพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเกี่ยวกับความจริงของชีวิต และทรงสรุปว่า “สรรพสัตว์จักม้วยมรณ์ เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด ทุกคนจักไปตามกรรม (ยถากรรม) เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป คนมีกรรมชั่วไปนรก คนมีกรรมดีไปสุคติ เพราะฉะนั้น พึงทำกรรมดี …”; มีบ้างน้อยแห่งที่ใช้ยถากรรมในความหมายอื่นเช่นในข้อความว่า “ได้เงินค่าจ้างทุกวันตามยถากรรม” (คือตามงานที่ตนทำ) ในภาษาไทย ยถากรรม ได้มีความหมายเพี้ยนไปมาก กลายเป็นว่า “แล้วแต่จะเป็นไป, เรื่อยเปื่อย, เลื่อนลอยไร้จุดหมาย, ตามลมตามแล้ง” ซึ่งตรงข้ามกับความหมายที่แท้จริง