คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : ยมกปาฏิหาริย์

ปาฏิหาริย์เป็นคู่ๆ อันเป็นปาฏิหาริย์พิเศษที่เฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้นทรงกระทำได้ ไม่สาธารณะกับพระสาวกทั้งหลาย เช่น ให้เปลวไฟกับสายน้ำพวยพุ่งออกไป จากพระวรกายต่างส่วนต่างด้าน พร้อมกันเป็นคู่ๆ ให้ลำเพลิงพวยพุ่งจากพระวรกายข้างขวา พร้อมกับอุทกธาราพวยพุ่งจากพระวรกายข้างซ้ายและสลับกัน บ้าง ให้ลำเพลิงพวยพุ่งจากพระเนตรข้างขวา พร้อมกับอุทกธาราพวยพุ่งจากพระเนตรข้างซ้าย และสลับกัน บ้าง จากพระโสต พระนาสิก พระอังสา พระหัตถ์ พระบาท ขวา ซ้าย ตลอดจนช่องพระองคุลี และขุมพระโลมา ก็เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น ในท่ามกลางพระฉัพพัณณรังสี พระผู้มีพระภาค กับพระพุทธนิมิต (พระพุทธรูปที่ทรงเนรมิตขึ้น) ก็สำเร็จพระอิริยาบถที่ต่างกัน เช่น ขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงจงกรม พระพุทธนิมิตประทับยืนบ้าง ประทับนั่งบ้าง ทรงไสยาสน์บ้าง ขณะที่พระพุทธนิมิตทรงไสยาสน์ พระผู้มีพระภาคทรงจงกรมบ้าง ประทับยืนบ้างประทับนั่งบ้าง ดังนี้เป็นต้น

ยมกปาฏิหาริย์นั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่ใกล้ประตูเมืองสาวัตถี เพื่อกำราบหรือระงับความปรารถนาร้ายของเหล่าเดียรถีย์ ดังมีเรื่องเป็นมาว่า ครั้งหนึ่ง เศรษฐีชาวเมืองราชคฤห์ได้ปุ่มไม้แก่นจันทน์มีราคามากมา (อรรถกถาว่าเป็นปุ่มไม้จันทน์แดงที่ลอยตามแม่น้ำคงคามาติดตาข่ายป้องกันบริเวณที่เล่นกีฬาน้ำของท่านเศรษฐี) และเกิดความคิดว่า จะให้กลึงเป็นบาตร เก็บเอาส่วนที่ เหลือไว้ใช้ และให้บาตรเป็นทาน เมื่อให้กลึงบาตรด้วยปุ่มไม้แก่นจันทน์นั้นแล้วก็ใส่สาแหรกแขวนไว้ที่ปลายไม้ไผ่ ผูกลำไม้ต่อๆ กันขึ้นไป (อรรถกถาว่าสูง ๖๐ ศอก) ประกาศว่า สมณะก็ตาม พราหมณ์ ก็ตาม ผู้ใด เป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์จงปลดบาตรที่เราให้แล้วไปเถิด (อรรถกถาว่า ท่านเศรษฐีทำเช่นนี้เพราะคิดว่ามีผู้อวดกันมากว่าตนเป็นอรหันต์ แต่ไม่เห็นจริงสักราย คราวนี้จะได้ชัดกันไป ถ้ามีจริงก็จะยอมนับถือกันทั้งครอบครัว) พวกเดียรถีย์เจ้าลัทธิก็มาติดต่อขอบาตรนั้น ท่านเศรษฐีก็บอกให้เหาะขึ้นไปเอาเอง จนถึงวันที่ ๗ พระมหาโมคคัลลานะและพระปิณโฑลภารทวาชะเข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ ได้ยินพวกนักเลงพูดทำนองเยาะเย้ยว่ามีแต่นักคุยอวดว่าเป็นอรหันต์ แต่เอาเข้าจริง คราวนี้ก็เห็นชัดว่าไม่มี พระมหาเถระเห็นว่าถ้าปล่อยไว้ คนจะดูหมิ่นพระศาสนา ในที่สุด พระปิณโฑลภารทวาชะก็เหาะขึ้นไปปลดบาตรนั้น และเหาะเวียนกรุงราชคฤห์ ๓ รอบ (อรรถกถาว่า พระเถระเหาะแสดงฤทธิ์แล้วมาหยุดที่เหนือบ้านของเศรษฐีโดยมิได้เข้าไปที่บาตร ท่าน เศรษฐีแสดงความเคารพและนิมนต์ท่านลงมา แล้วให้คนเอาบาตรลงมาและจัดถวาย) เหตุการณ์นี้ทำให้คนแตกตื่นพากันตามพระเถระมาที่วัด ส่งเสียงอื้ออึงมาก พระพุทธเจ้าได้ทรงสดับ เมื่อทราบความแล้ว ทรงให้ประชุมสงฆ์ ทรงสอบถามท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ ได้ความจริงตามเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ทรงตำหนิว่า การนั้นไม่ สมควรแก่สมณะการที่ถือเอาบาตรไม้เป็นเหตุมาแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ อันเป็นอุตตริมนุสสธรรมแก่คฤหัสถ์ทั้งหลายนั้น ก็เหมือนกับสตรียอมเปิดแสดงของสงวนเพราะเห็นแก่ทรัพย์ แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุ มิให้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์แก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย และรับสั่งให้ทำลายบาตรนั้น บดจนละเอียดผสมเป็นยาหยอดตาของภิกษุทั้งหลาย กับทั้งทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุ มิให้ใช้บาตรไม้ (วินย.7/33/16) ในพระวินัยปิฎก มีเรื่องต้นเดิมเป็นมาจบลงเพียงนี้

อรรถกถาเล่าเรื่องต่อไปว่า (ธ.อ.๖/๗๐; ชา.อ.๖/๒๓๑) ฝ่ายพวกเดียรถีย์ เมื่อทราบว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุ มิให้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์แก่คฤหัสถ์ทั้งหลายแล้ว ก็เห็นว่าพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาหมดโอกาสแสดงฤทธิ์แล้ว จึงฉวยโอกาสโฆษณาว่าพวกตนไม่เห็นแก่บาตรไม้ จึงมิได้แสดงฤทธิ์ เมื่อเรื่องบาตรผ่านไปแล้ว ทีนี้ พวกตนก็จะแสดงความสามารถให้เห็นละ โดยจะแข่งฤทธิ์กับพระสมณโคดม ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงห่วงใยว่า พวกเดียรถีย์ท้าอย่างนี้ ในเมื่อทรงบัญญัติห้ามพระสงฆ์แสดงฤทธิ์เสียแล้ว จะทำอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสว่า สิกขาบทนั้นทรงบัญญัติสำหรับพระสาวก พระองค์จึงจะทรงแสดงฤทธิ์เอง และตรัสแก่พระเจ้าพิมพิสารว่าจะทรงแสดงในเวลาอีก ๔ เดือนข้างหน้า ในวันเพ็ญเดือน ๘ ณ เมืองสาวัตถี ต่อจากนั้น พวกเดียรถีย์ก็แสดงออกต่างๆ ให้เห็นเหมือนกับว่าพระพุทธเจ้าทรงหาทางผัดผ่อนเวลาและยักย้ายสถานที่เพื่อหนีการท้าทาย และพวกตนคอยไล่ตาม จนกระทั่งเมื่อมาสู่เมืองสาวัตถีและใกล้เวลาเข้าไป พวกเดียรถีย์ก็ให้สร้างมณฑปที่จะทำการแสดงไว้ให้พร้อม ส่วนของพระพุทธเจ้ายังไม่มีการเตรียมการอะไร เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถาม ก็ทรงตอบว่าจะ แสดงที่โคนต้นมะม่วงของนายคัณฑ์ (คัณฑามพพฤกษ์ = คัณฑ [นายคัณฑ์ เป็นคนเฝ้าพระราชอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศล] + อัมพ [มะม่วง] + พฤกษ์ [ต้นไม้], ฉบับอักษรพม่า เป็นกัณฑามพพฤกษ์ คือคนสวนชื่อนายกัณฑ์) พวกเดียรถีย์ได้ข่าวดังนั้น ก็ให้คนเที่ยวทำลายถอนต้นมะม่วงแม้แต่ที่เพิ่งเกิดในรัสมีโยชน์หนึ่งทั้งหมด (แต่เข้าไปถอนในพระราชอุทยานไม่ได้) ครั้นถึงวันเพ็ญเดือน ๘ นายคัณฑ์ คนเฝ้าพระราชอุทยาน เก็บมะม่วงผลโตรสดีได้ผลหนึ่งนำไปจะถวายแก่พระราชา พอดีระหว่างทาง เห็นพระพุทธเจ้า เลยเปลี่ยนใจ คิดว่าถวายพระพุทธเจ้าดีกว่า พระพุทธเจ้าทรงรับแล้ว พระอานนท์คั้นทำน้ำปานะถวาย พระองค์เสวยอัมพปานะ และรับ สั่งให้นายคัณฑ์รับเอาเม็ดมะม่วงไปคุ้ยดินปลูกตรงที่นั้นเอง ทรงล้างพระหัตถ์รดน้ำลงไป ต้นมะม่วงก็งอกโตขึ้นมาๆ จนสูงได้ ๑๕ ศอก ออกดอกออกผลพรั่งพร้อม ขณะนั้น พายุใหญ่พัดและฝนหนักตกลงมา ทำให้ประดาเดียรถีย์หนีกระจัดกระจาย แล้วเมื่อถึงวาระ พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์และแสดงธรรมแก่ประชาชน เมื่อเสร็จสิ้นพุทธกิจนี้แล้ว ก็เสด็จขึ้นไปทรงพรรษาในดาวดึงสเทวโลก ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาและเหล่าเทพ ถ้วนไตรมาส แล้วในวันเพ็ญเดือน ๑๑ เสด็จ เทโวโรหณะ คือลงจากเทวโลก ที่สังกัสสนคร คืนสู่พุทธกิจในการโปรดมนุษยนิกรสืบต่อไป
ดู ปาฏิหาริย์, ปิณโฑลภารทวาชะ, เทโวโรหณะ