คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : โยนก

อาณาจักรโบราณทางทิศพายัพของชมพูทวีป (ปัจจุบันอยู่ในเขตอาฟกานิสถาน และอุซเบกิสถานกับตาจิกิสถานแห่งเอเชียกลาง) ชื่อว่าบากเตรีย (Bactria; เรียก Bactriana หรือ Zariaspa ก็มี) มีเมืองหลวงชื่อ บากตรา (Bactra ปัจจุบันเรียกว่า Balkh อยู่ในภาคเหนือของอัฟกานิสถาน), เป็นดินแดนที่ชนชาติอารยันเข้ามาครอง แล้วตกอยู่ใต้อำนาจของจักรวรรดิเปอร์เซียโบราณ และคงเนื่องจากมีชนชาติกรีกเผ่า Ionians มาอยู่อาศัยมาก ทางชมพูทวีปจึงเรียกว่า “โยนก” (ในคัมภีร์บาลีเรียกว่าโยนก บ้าง โยนะ บ้าง ยวนะ บ้าง ซึ่งมา จากคำว่า “Ionian” นั่นเอง)

เฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) กษัตริย์กรีก ยกทัพแผ่อำนาจมาทางตะวันออก ล้มจักรวรรดิเปอร์เซียลงได้ ในปีที่ ๓๓๑ ก่อน ค.ศ. (ประมาณ พ.ศ. ๑๕๘) แล้วจะมาตีชมพูทวีป ผ่านบากเตรียซึ่งเคยขึ้นกับเปอร์เซียมา ประมาณ ๒๐๐ ปี ก็ได้บากเตรียคือแคว้นโยนกนั้นในปีที่ ๓๒๙ ก่อน ค.ศ. (พ.ศ. ๑๖๐) จากนั้นจึงไปตั้งทัพที่เมืองตักสิลาในปีที่ ๓๒๖ ก่อน ค.ศ. เพื่อเตรียมเข้าตีอินเดีย แต่ในที่สุดทรงล้มเลิกพระดำรินั้น และยกทัพกลับในปีที่ ๓๒๕ ก่อน ค.ศ. ระหว่างทางเมื่อพักที่กรุงบาบิโลน ได้ประชวรหนักและสวรรคตเมื่อปีที่ ๓๒๓ ก่อน ค.ศ. แม่ ทัพกรีกที่พระเจ้าอเลกซานเดอร์ตั้งไว้ดูแลดินแดนที่ตีได้ ก็ปกครองโยนกต่อมาโยนกตลอดจนคันธาระที่อยู่ใต้ลงมา(ปัจจุบันอยู่ในอัฟกานิสถานและปากีสถาน) จึงเป็นดินแดนกรีกและมีวัฒนธรรมกรีกเต็มที่

ต่อมาไม่นาน เมื่อพระอัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราช คือพระเจ้าจันทรคุปต์ (เอกสารกรีกเรียก Sandrocottos หรือ Sandrokottos) ขึ้นครองแคว้นมคธ ตั้งราชวงศ์โมริยะ (รูปสันสกฤตเป็นเมารยะ) ขึ้นในปีที่ ๓๒๑ ก่อน ค.ศ. (พ.ศ. ๑๖๘) แล้วยกทัพมาเผชิญกับแม่ทัพใหญ่ของอเลกซานเดอร์ ชื่อซีลูคัส (Seleucus) ที่มีอำนาจปกครองดินแดนแถบตะวันออกรวมทั้งโยนกและคันธาระนั้น (ต่อมาได้เป็นกษัตริย์แห่งบาบิโลเนียถือกันว่าเป็นกษัตริย์แห่งซีเรียโบราณ) ซีลูคัสได้ยอมยกคันธาระให้แก่จันทรคุปต์ แม้ว่าโยนกก็คงจะได้มาขึ้นต่อมคธด้วย ดังที่ศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๘–๒๖๐) กล่าวถึงแว่นแคว้นของชาวโยนกในเขตพระราชอำนาจ แต่ผู้คนและวิถีชีวิตที่นั่นก็ยังเป็นแบบกรีกสืบมา

เมื่อพระเจ้าอโศกทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๓ ใน พ.ศ. ๒๓๕ แล้วพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้มอบภาระให้พระสงฆ์ไปเผยแพร่พระศาสนาในดินแดนต่างๆ ๙ สาย (เราเรียกกันว่าพระศาสนทูต) อรรถกถากล่าวว่า พระมหารักขิตเถระได้มายังโยนกรัฐ

หลังรัชกาลพระเจ้าอโศกมหาราชไม่เต็มครึ่งตวรรษ ราชวงศ์โมริยะก็สลายลง ในช่วงเวลานั้น บากเตรียหรือโยนกก็ได้ตั้งอาณาจักรของตนเองเป็นอิสระ (ตำราฝ่ายตะวันตกบอกในทำนองว่าบากเตรียไม่ได้มาขึ้นต่อมคธ ยังขึ้นกับราชวงศ์ของซีลูคัส จนถึงปีที่ ๒๕๐ ก่อน ค.ศ. ซึ่งยังอยู่ในรัชกาลพระเจ้าอโศก บากเตรียจึงแยกตัว จากราชวงศ์ของซีลูคัส ออกมาตั้งเป็นอิสระ แต่ศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกก็บอกชัดว่า มีแว่นแคว้นโยนกในพระราชอำนาจ อาจเป็นได้ว่า โยนกในสมัยนั้น มีทั้งส่วนที่ขึ้นต่อมคธ และส่วนที่ขึ้นต่อราชวงศ์กรีก ของซีลูคัส แล้วแข็งข้อแยกออกมา) จากนั้นบากเตรียได้มีอำนาจมากขึ้น ถึงกับขยายดินแดนเข้ามาในอินเดียภาคเหนือดังที่โยนกได้มีชื่อเด่นอยู่ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในสมัยของพระเจ้า Menander ที่พุทธศาสนิกชนเรียกว่า พญามิลินท์ ซึ่งครองราชย์ (พ.ศ.๔๒๓-๔๕๓) ที่เมืองสาคละ (ปัจจุบัน เรียกว่า Sialkot อยู่ในแคว้นปัญจาบ ที่เป็นส่วนของปากีสถาน)

หลังรัชกาลพญามิลินท์ไม่นาน บากเตรียหรือโยนกตกเป็นของชนเผ่าศกะที่เร่ร่อนรุกรานเข้ามา แล้วต่อมาก็เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกุษาณ (ที่มีราชายิ่งใหญ่พระนามว่ากนิษกะ, ครองราชย์ พ.ศ. ๖๒๑–๖๔๔) หลังจากนั้นก็มีการรุกรานจากภายนอกมาเป็นระลอก จนกระทั่งประมาณ ค.ศ. ๗๐๐ (ใกล้พ.ศ. ๑๓๐๐) กองทัพมุสลิมอาหรับยกมาถึงและเข้าครอบครอง โยนกก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งแห่งดินแดนของชนชาวมุสลิมสืบมา ชื่อโยนกก็เหลืออยู่แต่ในประวัติศาสตร์