คำศัพท์ :
คติ1. การไป, ทางไป, ความเป็นไป, ทางดำเนิน, วิธี, แนวทาง, แบบอย่าง
2. ที่ไปเกิดของสัตว์, ภพที่สัตว์ไปเกิด, แบบการดำเนินชีวิต มี ๕ คือ
๑. นิรยะ นรก
๒. ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน
๓. เปตติวิสัย แดนเปรต
๔. มนุษย์ สัตว์มีใจสูงรู้คิดเหตุผล
๕. เทพ ชาวสวรรค์ ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึง อกนิษฐพรหม; ใช้คำเรียกเป็นชุดว่า:
นิรยคติ ติรัจฉานคติ เปตคติ มนุษยคติ เทวคติ, ๓ คติแรกเป็น
ทุคติ (ที่ไปเกิดอันชั่ว หรือแบบดำเนินชีวิตที่ไม่ดี) ๒ คติหลังเป็น
สุคติ (ที่ไปเกิดอันดี หรือแบบดำเนินชีวิตที่ดี)
สำหรับทุคติ ๓ มีข้อสังเกตว่า บางทีเรียกว่า อบาย หรือ อบายภูมิ แต่อบายภูมินั้นมี ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย ดิรัจฉาน, อรรถกถากล่าวว่า (อุ.อ.๑๔๕; อิติ.อ.๑๔๕) การที่มีจำนวนไม่เท่ากัน ก็เพราะรวมอสุรกาย เข้าในเปตติวิสัยด้วย จึงเป็นทุคติ ๓; ดู อบาย
คติ ๕ นี้ เมื่อจัดเข้าใน ภพ ๓ พึงทราบว่า ๔ คติแรกเป็นกามภพทั้งหมด ส่วนคติที่ ๕ คือ เทพ มีทั้งกามภพ รูปภพ และอรูปภพ (เทพนั้น แบ่งออกไปเป็น ก.เทวดาในสวรรค์ ๖ ชั้น อยู่ในกามภพ ข.รูปพรหม ๑๖ ชั้น อยู่ในรูปภพ และ ค.อรูปพรหม ๔ ชั้น อยู่ในอรูปภพ); เทียบ ภพ
เมื่อจัดเข้าใน ภูมิ ๔ พึงทราบว่า ๔ คติแรกเป็นกามาวจรภูมิทั้งหมด ส่วนคติที่ ๕ คือ เทพ มีทั้งกามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ และอรูปาวจรภูมิ (ทำนองเดียวกับที่กล่าวแล้วใน ภพ ๓) แต่มีข้อพิเศษว่า ภูมิสูงสุด คือภูมิที่ ๔ อันได้แก่ โลกุตตรภูมินั้น แม้ว่าพวกเทพจะอาจเข้าถึงได้ แต่มนุษยคติเป็นวิสัยที่มีโอกาสลุถึงได้ดีที่สุด; เทียบ ภูมิ