คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : โอวาทปาติโมกข์

[โอ-วา-ทะ-ปา-ติ-โมก] หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูปผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุวนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา (อรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์นี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ เป็นเวลา ๒๐ พรรษาก่อนที่จะโปรดให้สวดปาติโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา), คาถาโอวาทปาติโมกข์ มีดังนี้
สพฺพปาปสฺส อกรณํ     กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ         เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ
            ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
            นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
            น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
            สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ฯ
อนูปวาโท อนูปฆาโต      ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ     ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค         เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ

แปล: การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑ การบำเพ็ญแต่ความดี ๑ การทำจิตต์ของตนให้ผ่องใส ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง, พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า นิพพาน เป็นบรมธรรม, ผู้ทำร้ายคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต, ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑ ที่นั่งนอนอันสงัด ๑ ความเพียรในอธิจิตต์ ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส