คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : เอกเสสนัย

อาการกำหนดด้วยเหลือศัพท์เดียว, เป็นวิธีการอย่างหนึ่งในไวยากรณ์บาลี กล่าวคือ บุคคล วัตถุ หรือภาวะบางอย่าง เป็นของควบคู่กันมาด้วยกันเสมอ เมื่อเห็นอย่างหนึ่งก็เป็นอันรู้ถึงอีกอย่างหนึ่งด้วย หรือเป็นของชุดเดียวกันจำพวกเดียวกัน เมื่อเรียกชื่ออย่างหนึ่งจะหมายถึงอย่างหนึ่งอย่างใดในชุดหรือในจำพวกนั้นก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ บางทีท่านกล่าวถึงหรือออกชื่อไว้อย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอันเดียว ให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังหมายรู้อีกอย่างหนึ่งด้วย หรือให้เข้าใจเอาเอง จากข้อความแวดล้อมว่า ในที่นั้นหมายถึงอย่างไหนข้อใดในชุดหรือใน จำพวกนั้น จึงเรียกว่า เหลือไว้อย่างเดียวหรือเหลือไว้ศัพท์เดียว เช่น ก) เป็นที่รู้กันดีว่าคู่พระอัครสาวกคือใคร ดังนั้น ในคำสมาสบาลี เมื่อระบุนามพระอัครสาวกองค์เดียวแต่เป็นพหูพจน์ว่า สาริปุตฺตา “พระสารีบุตรทั้งหลาย” ก็เป็นอันรวมอีกองค์หนึ่งที่ไม่ได้ระบุด้วย จึงหมายถึงพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ ข) ตามสำนวนวิธีอธิบายธรรม เช่น ในหลักปฏิจจสมุปบาท คำว่า นามรูป เป็นเอกเสส หมายถึง นามหรือรูป หรือทั้งนามและรูป คำว่า สฬายตนะ ก็เป็นเอกเสส หมายถึงอายตนะที่ ๖ ก็ได้ อายตนะทั้ง ๖ ก็ได้ ดังนั้น เมื่อพูดว่านามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ ถ้าพูดถึงอรูปภพ กรณีก็บังคับให้ต้องแปลความว่า นามเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะที่ ๖ (คือมโน) ค) ในสำนวนนิยมทางภาษาอย่างในภาษาบาลี คำพูดบางคำมีความหมายกว้าง หมายถึงสิ่งของหรือสภาวะสองสามอย่างที่ถือได้ว่าเป็นชุดเดียวกัน เช่น สุคติ หมายถึงโลกสวรรค์ก็ได้ โลกมนุษย์ก็ได้ (สวรรค์กับมนุษย์อยู่ในชุดที่เป็นสุคติด้วยกัน) เมื่ออย่างหนึ่งในชุดนั้น มีคำเฉพาะระบุชัดแล้ว คำที่มีความหมายกว้าง ก็ย่อมหมายถึงอีกอย่างหนึ่งในชุดนั้น ที่ยังไม่ถูกระบุ เช่น ในคำว่า “สุคติ (และ) โลกสวรรค์” สวรรค์ก็เป็นสุคติ แต่มีคำเฉพาะระบุไว้แล้ว ดังนั้น คำว่า สุคติ ในกรณีนี้ จึงหมายถึง โลกมนุษย์ ซึ่งเป็นสุคติอย่างเดียวที่เหลือนอกจากสวรรค์