คำศัพท์ :
จักรวรรดิวัตร ๑๒หน้าที่หรือข้อปฏิบัติประจำพระองค์ของพระเจ้าจักรพรรดิซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ในจักกวัตติสูตร (เรียกเต็มว่า อริยจักกวัตติวัตต/อารยจักรวรรดิวัตร, ที.ปา.
11/35/64) โดยมิได้ทรงนับจำนวนระบุตัวเลขไว้ ต่อมาอรรถกถาได้อธิบายไขความโดยนับจำนวนให้ด้วย โดยในอรรถกถาแห่งจักกวัตติสูตรนั้นเอง (ที.อ.๓/๓๔) บอกว่าจักรวรรดิวัตรนี้ นับ ๑๐ ก็ได้ ๑๒ ก็ได้
ในประเพณีของเมืองไทยถือเอาจำนวน ๑๒ และจำกันมาเป็นจักรวรรดิวัตร ๑๒ ตามที่อรรถกถาแสดงไว้ คือ ๑. อนฺโตชนสฺมึ พลกายสฺมึ คุ้มครองสงเคราะห์แก่ชนในพระราชฐานและพยุหเสนา ๒. ขตฺติเยสุ แก่กษัตริย์เมืองขึ้นหรือผู้ครองนครภายใต้พระบรมเดชานุภาพ ๓. อนุยนฺเตสุ แก่กษัตริย์ที่ตามเสด็จ คือเหล่าเชื้อพระวงศ์ผู้เป็นราชบริพาร ๔. พฺราหฺมณคหปติเกสุ แก่พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ๕.เนคมชานปเทสุ แก่ชาวนิคมและชาวชนบท คือราษฎรพื้นเมืองทั้งหลาย ๖. สมณพฺราหฺมเณสุ แก่เหล่าสมณพราหมณ์ ๗. มิคปกฺขีสุ แก่เหล่าเนื้อนกอันพึงบำรุงไว้ให้มีสืบพันธุ์ ๘. อธมฺมการปฏิกฺเขโป ห้ามปรามมิให้มีความประพฤติการอันไม่เป็นธรรม ๙. อธนานํ ธนานุปฺปทานํ เจือจานทรัพย์ทำนุบำรุงแก่ผู้ขัดสนไร้ทรัพย์ ๑๐. สมณพฺราหฺมเณ อุปสงฺกมิตฺวา ปญฺหาปุจฺฉนํ ไป ไปสู่หาสมณพราหมณ์ไต่ถามอรรถปริศนา ๑๑. อธมฺมราคสฺส ปหานํ เว้นความกำหนัดในกามโดยอาการไม่เป็นธรรม ๑๒. วิสมโลภสฺส ปหานํ เว้นโลภกล้า ไม่เลือกควรไม่ควร
อรรถกถาชี้แจงไว้ด้วยว่า จักรวรรดิวัตรที่นับ ๑๒ นี้ โดยเติมข้อ ๑๑ และ๑๒ เข้ามา (๒ ข้อท้ายนี้ไม่มีในพระสูตร) ถ้าไม่เติม ๒ ข้อนี้ ก็เป็นจักรวรรดิวัตร ๑๐ แต่จะนับ ๑๐ นี้ให้เป็น ๑๒ ก็ได้ โดยในข้อ ๔ แยกเอาคหบดีออกมา และในข้อ ๗ แยกปักษีออกมา ได้อีก ๒ ข้อ แต่อรรถกถาอื่นๆ นิยมนับแค่ จักรวรรดิวัตร ๑๐
ถ้าไม่ต้องการเติม ๒ ข้อใหม่ของอรรถกถา แต่พอใจถือจำนวนจักรวรรดิวัตร ๑๒ ตามที่นิยมสืบมา ก็สามารถจับเรียงข้อตามพุทธพจน์เดิมได้ โดยนับ
เฉพาะหลักใหญ่เป็น ๕ รวมกับรายการย่อยของหลักที่ ๒ เป็น ๑๒ ดังนี้ ๑. ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ (1), ๒. ธรรมิการักขา จัดอารักขาที่เป็นธรรมชอบธรรม ๑) แก่อันโตชน คนในคือพระราชวงศ์และข้าราชการในพระองค์ (2), ๒) แก่พลกาย คือกองทัพ (3), ๓) แก่ขัตติยะ คือบรรดาผู้บริหารผู้ปกครองรองๆ ลงมา (4), ๔) แก่อนุยนต์ คือเหล่าราชบริพารที่ขับเคลื่อนงานสนองพระบรมราโชบาย (5), ๕) แก่พราหมณคฤหบดี คือเหล่านักวิชาการ พ่อค้า ผู้ประกอบการ (6), ๖) แก่เนคมชานปท คือ ชาวนิคมชนบท (7), ๗) แก่สมณพราหมณ์ คือพระสงฆ์และนักบวช (8), ๘) แก่มิคปักษี คือบรรดาสัตว์บกสัตว์บิน (9), ๓. อธรรมการนิเสธนา ห้ามกั้นการอาธรรม์ (10), ๔. ธนานุประทาน จัดสรรปันเฉลี่ยแผ่เพิ่มเสริมทรัพย์ให้ทั่วถึง (11), ๕. ปริปุจฉา ไม่ประมาทในการแสวงธรรมแสวงปัญญา โดยพบปะสนทนาสอบถามสมณพราหมณ์ ท่านผู้ทรงศีลทรงธรรมทรงปัญญา (12)
ดู จักกวัตติสูตร