ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31
[คลิก]
คำศัพท์ : กัมมัฏฐาน
ที่ตั้งแห่งการงาน, อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ, อุบายทางใจ, วิธีฝึกอบรมจิตใจและเจริญปัญญา (นิยมเขียน กรรมฐาน); กัมมัฏฐาน ๒ (โดยหลักทั่วไป) คือ ๑. สมถกัมมัฏฐาน กรรมฐานเพื่อการทำจิตใจให้สงบ, วิธีฝึกอบรมเจริญจิตใจ ๒. วิปัสสนากัมมัฏฐาน กรรมฐานเพื่อการให้เกิดความรู้แจ้ง, วิธีฝึกอบรมเจริญปัญญา; กัมมัฏฐาน ๒ (โดยการปฏิบัติ) คือ ๑. สัพพัตถกัมมัฏฐาน กรรมฐานที่พึงต้องการในที่ทั้งปวง หรือพึงใช้เป็นฐานของการเจริญภาวนาทุกอย่าง, กรรมฐานที่เป็นประโยชน์ในทุกกรณี ได้แก่ เมตตามรณสติ และบางท่านว่า อสุภสัญญา ด้วย ๒. ปาริหาริยกัมมัฏฐาน กรรมฐานที่จะต้องบริหาร (ประจำตัว) คือกรรมฐานข้อหนึ่งข้อใดก็ตาม ที่เลืือกว่าเหมาะกับตน เช่นว่าตรงกับจริตแล้ว หรือกำหนดเอาเป็นข้อที่ตนจะปฏิบัติเพื่อก้าวสู่ผลที่สูงขึ้นไปๆ แล้ว ต่อแต่นั้นก็จะต้องเอาใจใส่จัดปรับบำเพ็ญตลอดเวลาเพื่อให้ก้าวหน้าไปและได้ผลดี, ทั้งนี้หมายความว่าผู้ปฏิบัติทุกคนพึงปฏิบัติกรรมฐานทั้ง ๒ ข้อ เนื่องจากสัพพัตถกกัมกัฏฐานจะช่วยเป็นพื้นเกื้อหนุนต่อปาริหาริยกัมมัฏฐาน โดยผู้ปฏิบัตินั้น พอเริ่มต้น ก็เจริญเมตตาต่อประดาภิกษุสงฆ์และหมู่ชนตลอดถึงเทวดาในถิ่นใกล้รอบตัวจนทั่วสรรพสัตว์ เพื่อให้มีใจอ่อนโยนต่อกัน และมีบรรยากาศร่มเย็นเป็นมิตร พร้อมกันนั้นก็เจริญมรณสติ เพื่อให้ใจห่างจากทุจริตไม่คิดถึงอเนสนา และกระตุ้นเร้าใจให้ปฏิบัติจริงจัง ไม่ย่อหย่อน ส่วนอสุภสัญญาก็มาช่วยให้โลภะหรือราคะเข้ามาครอบงำไม่ได้ เพราะจะไม่ติดใจแม้แต่ในทิพยารมณ์ แล้วก็มุ่งหน้าไปในปาริหาริยกรรมฐานของตน
ดู ภาวนา