ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31
[คลิก]
คำศัพท์ : อุโบสถ
1. การสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เป็นเครื่องซักซ้อมตรวจสอบความบริสุทธิ์ทางวินัยของภิกษุทั้งหลาย และทั้งเป็นเครื่องแสดงความพร้อมเพรียงของสงฆ์ด้วย, อุโบสถเป็นสังฆกรรมที่ต้องทำเป็นประจำสม่ำเสมอและมีกำหนดเวลาที่แน่นอน มีชื่อเรียกย่อยออกไปหลายอย่าง การทำอุโบสถจะมีการสวดปาติโมกข์ได้ต่อเมื่อมีภิกษุครบองค์สงฆ์จตุวรรค คือ ๔ รูปขึ้นไป ถ้าสงฆ์ครบองค์กำหนดเช่นนี้ทำอุโบสถ เรียกว่า สังฆอุโบสถ (มีรายละเอียดวิธีปฏิบัติตามพุทธบัญญัติในอุโปสถขันธกะ, วินย.4/147/201); ในกรณีที่มีภิกษุอยู่ในวัดเพียง ๒ หรือ ๓ รูป เป็นเพียงคณะ ท่านให้บอกความบริสุทธิ์แก่กันและกันแทนการสวดปาฏิโมกข์ เรียกอุโบสถนี้ว่า คณอุโบสถ หรือปาริสุทธิอุโบสถ กล่าวคือ ถ้ามี ๓ รูป พึงให้รูปที่สามารถตั้งญัตติว่า “สุณนฺตุ
เม อายสฺมนฺตา, อชฺชุโปสโถ ปณฺณรโส, ยทายสฺมนฺตานํ ปตฺตกลฺลํ, มยํ อญฺญมญฺญ ํ ปาริสุทฺธิอุโปสถํ กเรยฺยาม.”
(ปณฺณรโส คือ ๑๕ ค่ำ ถ้า ๑๔ ค่ำ เปลี่ยนเป็น จาตุทฺทโส) จากนั้น ทั้งสามรูปพึงบอกความบริสุทธิ์ของตนไปตามลำดับพรรษา (พระเถระว่า “ปริสุทฺโธ อหํ อาวุโส, ปริสุทฺโธติ มํ ธาเรถ” ว่า ๓ ครั้ง; รูปอื่นเปลี่ยน อาวุโส เป็น ภนฺเต), ถ้ามี ๒ รูป ไม่ต้องตั้งญัตติ เพียงบอกความบริสุทธิ์ของตนแก่กัน (พระเถระว่า “ปริสุทฺโธ อหํ อาวุโส, ปริสุทฺโธติ มํ ธาเรหิ” ว่า ๓ ครั้ง; รูปที่อ่อนพรรษาเปลี่ยน อาวุโส เป็น ภนฺเต และเปลี่ยน ธาเรหิ เป็น ธาเรถ); ถ้ามีภิกษุอยู่ในวัดรูปเดียว ท่านให้ทำเพียงอธิษฐาน คือตั้งใจกำหนดจิตว่า วันนี้เป็นอุโบสถของเรา (“อชฺช เม อุโปสโถ”) อุโบสถที่ทำอย่างนี้ เรียกว่า ปุคคลอุโบสถ หรืออธิษฐานอุโบสถ; อุโบสถที่ทำในวันแรม ๑๔ ค่ำ เรียกว่า จาตุทสิก ทำในวันขึ้นหรือแรม ๑๕ ค่ำ เรียกว่า ปัณณรสิก ทำในวันสามัคคี เรียกว่าสามัคคีอุโบสถ 2. อุโบสถ คือ การอยู่จำรักษาองค์ ๘ ที่โดยทั่วไปเรียกกันว่า ศีล ๘ ของอุบาสกอุบาสิกา นั้น จำแนกได้เป็น ๓ ประเภท คือ ๑. ปกติอุโบสถ อุโบสถที่รักษาตามปกติชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ปัจจุบันนิยมรักษากันเฉพาะในวันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ วันจันทร์เพ็ญ คือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ และวันจันทร์ดับ คือ แรม ๑๕ ค่ำ หรือ ๑๔ ค่ำ (ปกติอุโบสถอย่างเต็ม มี ๘ วัน คือ วัน ๕ ค่ำ ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ ของทุกปักษ์ ถ้าเดือนขาดรักษาในวันแรม ๑๓ ค่ำเพิ่มด้วย) ๒. ปฏิชาครอุโบสถ อุโบสถของผู้ตื่นอยู่ (คือผู้กระตือรือร้นขวนขวายในกุศล ไม่หลับใหลด้วยความประมาท) ได้แก่ อุโบสถที่รักษาครั้งหนึ่งๆ ถึง ๓ วัน คือ รักษาในวันอุโบสถตามปกติ พร้อมทั้งวันก่อนและวันหลังของวันนั้น ซึ่งเรียกว่า วันรับและวันส่งด้วย เช่น อุโบสถที่รักษาในวัน ๕ ค่ำ มีวัน ๔ ค่ำ เป็นวันรับ วัน ๖ ค่ำ เป็นวันส่ง อุโบสถที่รักษาในวัน ๘ ค่ำ มีวัน ๗ ค่ำ เป็นวันรับ วัน ๙ ค่ำ เป็นวันส่ง (เดือนหนึ่งๆ จะมีวันรับและวันส่งรวม ๑๑ วัน, วันที่มิใช่วันอุโบสถ ในเดือนขาดมี ๑๐ วัน เดือนเต็ม ๑๑ วัน) ๓. ปาฏิหาริยอุโบสถ อุโบสถที่พึงนำไปซ้ำอีกๆ หรือย้อนกลับไปนำเอามาทำ คือรักษาให้เป็นไปตรงตามกำหนดดังที่เคยทำมาเป็นประจำในแต่ละปี หมายความว่า ในแต่ละปีมีช่วงเวลาที่กำหนดไว้เฉพาะที่จะรักษาอุโบสถประเภทนี้อย่างสามัญ ได้แก่ อุโบสถที่รักษาเป็นประจำตลอด ๓ เดือน ในพรรษา (อย่างเต็มได้แก่รักษาตลอด ๔ เดือน แห่งฤดูฝน คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒, ถ้าไม่สามารถรักษาตลอด ๔ เดือน หรือ ๓ เดือน จะรักษาเพียง ๑ เดือน ระหว่างวันปวารณาทั้งสอง คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ก็ได้, อย่างต่ำสุดพึงรักษากึ่งเดือนต่อจากวันปวารณาแรกไป คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑); อย่างไรก็ตาม มติในส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับอุโบสถ ๒ ประเภทหลังนี้ คัมภีร์ต่างๆ ยังแสดงไว้แตกต่างไม่ลงกันบ้าง ท่านว่าพอใจอย่างใด ก็พึงถือเอาอย่างนั้น เพราะแท้จริงแล้ว จะรักษาอุโบสถในวันใดๆ ก็ใช้ได้ เป็นประโยชน์ทั้งนั้น แต่ถ้ารักษาได้ในวันตามนิยมก็ย่อมควร 3. วันอุโบสถสำหรับพระสงฆ์ คือ วันจันทร์เพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) และวันจันทร์ดับ (แรม ๑๕ ค่ำ หรือ ๑๔ ค่ำเมื่อเดือนขาด), สำหรับคฤหัสถ์ คือ วันพระ ได้แก่ วันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ วันจันทร์เพ็ญ และวันจันทร์ดับ 4. สถานที่สงฆ์ทำสังฆกรรม เรียกตามศัพท์ว่า อุโปสถาคาร หรือ อุโปสถัคคะ (โรงอุโบสถ), ไทยมักตัดเรียกว่า โบสถ์