คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : อุเทศ

1. การยกขึ้นแสดง, ข้อที่ยกขึ้นแสดง, หัวข้อ, บทตั้ง, ความที่เป็นหลัก

อุเทศ (อุทฺเทส) มักมาคู่กับ นิเทศ (นิทฺเทส) โดยที่อุเทศเป็นตัวบท แม่บท บทตั้ง หรือข้อความย่อ และนิเทศเป็นคำไขขยายความ เป็นคำชี้แจงอธิบายถ้ามีคำไขย้อนขยายความในนิเทศซ้อนเข้าไปอีก ก็เรียกว่าปฏินิเทศ

ตัวอย่างเช่น บอกว่า “ในเวลานั้น มีขันธ์ ๔” นี่เป็นอุเทศ, ไขความว่า “ขันธ์ ๔ ที่มีในเวลานั้น ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์” นี่คือนิเทศ, ถ้าย้อนเข้าไปไขความซ้อนอีกชั้นหนึ่งว่า “เวทนาขันธ์ที่มีในเวลานั้นเป็นอย่างไร? คือ…” นี่คือปฏินิเทศ

อุเทศเป็นการปฏิบัติที่ยืนตัวเป็นหลักของการศึกษาในธรรมวินัยนี้ โดยมาคู่กับ ปริปุจฉา เช่น อุปัชฌาย์มีวัตร คือข้อปฏิบัติซึ่งเป็นหน้าที่ประจำต่อศิษย์คือสัทธิวิหาริกมากมายหลายอย่าง (อาจารย์ต่อศิษย์คืออันเตวาสิกก็เช่นกัน) แต่วัตรหรือหน้าที่ข้อแรกที่เป็นหลัก คือต้องสงเคราะห์ ต้องอนุเคราะห์สัทธิวิหาริก ด้วยอุเทศ และปริปุจฉา (ตามด้วยโอวาท และอนุสาสนี)

อุเทศ ได้แก่ พุทธพจน์หรือคำตรัสแสดงธรรม หลักธรรมที่ทรงสอนไว้ ซึ่งยกมาสอนมาบอกเป็นบทตั้ง เป็นหลัก เป็นตัวบท เป็นที่อ้างอิง จากนั้นก็มีปริปุจฉา คือการซักรอบสอบถาม ซักไซ้ให้มีการขยายความอธิบายความหมายเนื้อหาสาระของพุทธพจน์หรือหลักธรรมคำตรัสสอนที่ยกมาเป็นอุเทศนั้น จนได้ความชัดเจน (การปฏิบัติหรือกิจกรรมอีกหลายอย่างที่ท่านกล่าวไว้เป็นสำคัญอันจะช่วยให้การศึกษาสัมฤทธิ์ผล เช่น สาธยาย โอวาท อนุสาสนี สากัจฉา โยนิโสมนสิการ เสวนากัลยาณมิตร); ดู ปริปุจฉา

2. การสวดปาติโมกข์, ปาติโมกข์ที่ยกขึ้นสวด, หมวดหนึ่งๆ แห่งปาติโมกข์ที่จัดไว้สำหรับสวด, ในคำว่า “สงฆ์มีอุเทศเดียวกัน” หมายความว่า ร่วมฟังสวดปาติโมกข์ด้วยกัน; อุเทศในปาติโมกข์จัดโดยย่อมี ๕ คือ ๑. นิทานุทเทส ๒. ปาราชิกุทเทส ๓. สังฆาทิเสสุทเทส ๔. อนิยตุทเทส ๕. วิตถารุทเทส, อุทเทสที่ ๕ นั้น รวมเอานิสสัคคิยุทเทส ปาจิตติยุทเทส ปาฏิเทสนียุทเทส เสขิยุทเทส และสมถุทเทส เข้าไว้ด้วยกัน ถ้าแยกออกนับโดยพิสดารก็จะเป็น ๙ อุทเทส การรู้จักอุเทศหรืออุทเทสเหล่านี้เป็นประโยชน์สำหรับการตัดตอนสวดปาติโมกข์ย่อได้ในคราวจำเป็น; ดู ปาติโมกข์ย่อ