คำศัพท์ :
อินทรีย์ความเป็นใหญ่, สภาพที่เป็นใหญ่ในกิจของตน, ธรรมที่เป็นเจ้าการในการทำหน้าที่อย่างหนึ่งๆ เช่น ตาเป็นใหญ่หรือเป็นเจ้าการในการเห็น หูเป็นใหญ่ในการได้ยิน วิริยะเป็นเจ้าการในการครอบงำเสียซึ่งความเกียจคร้าน เป็นต้น
อินทรีย์ ๕ ธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจของตน โดยเป็นเจ้าการในการทำหน้าที่ และเป็นหัวหน้านำสัมปยุตตธรรมในการครอบงำกำจัดธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ มี ๕ อย่าง ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา (ข้อธรรมตรงกับ พละ ๕), ธรรม ๕ อย่างชุดเดียวกันนี้ เรียกชื่อต่างกันไป ๒ อย่าง ตามหน้าที่ที่ทำ คือ เรียกชื่อว่า พละ โดยความหมายว่าเป็นกำลังให้เกิดความเข้มแข็งมั่นคง ซึ่งธรรมที่ตรงข้ามแต่ละอย่างจะเข้าครอบงำไม่ได้ เรียกชื่อว่า อินทรีย์ โดยความหมายว่าเป็นเจ้าการในการครอบงำเสีย ซึ่งธรรมที่ตรงข้ามแต่ละอย่าง คือความไร้ศรัทธา ความเกียจคร้าน ความประมาท ความฟุ้งซ่าน และความหลงงมงาย ตามลำดับ; ดู โพธิปักขิยธรรม
อินทรีย์ ๖ สภาวะที่เป็นใหญ่หรือเป็นเจ้าการในการรับรู้ด้านนั้นๆ ได้แก่ อายตนะภายใน ๖ คือ จักขุ-ตา โสตะ-หู ฆานะ-จมูก ชิวหา-ลิ้น กาย-กาย มโน-ใจ
อินทรีย์ ๒๒ สภาวะที่เป็นใหญ่ในการทำกิจของตน คือ ทำให้ธรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นไปตามตน ในกิจนั้นๆ ในขณะที่เป็นไปอยู่นั้น มีดังนี้ หมวด ๑:
๑. จักขุนทรีย์ (อินทรีย์ คือ จักขุปสาท) ๒. โสตินทรีย์ (อินทรีย์ คือ โสตปสาท) ๓. ฆานินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ฆานปสาท) ๔. ชิวหินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ชิวหาปสาท) ๕. กายินทรีย์ (อินทรีย์ คือ กายปสาท) ๖. มนินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ใจ) หมวด ๒: ๗. อิตถินทรีย์ (อินทรีย์ คือ อิตถีภาวะ) ๘. ปุริสินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ปุริสภาวะ) ๙. ชีวิตินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ชีวิต) หมวด ๓: ๑๐. สุขินทรีย์ (อินทรีย์ คือ สุขเวทนา) ๑๑. ทุกขินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ทุกขเวทนา) ๑๒. โสมนัสสินทรีย์ (อินทรีย์ คือ โสมนัสสเวทนา) ๑๓. โทมนัสสินทรีย์ (อินทรีย์ คือ โทมนัสสเวทนา) ๑๔. อุเปกขินทรีย์ (อินทรีย์ คือ อุเบกขาเวทนา) หมวด ๔: ๑๕. สัทธินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ศรัทธา) ๑๖. วิริยินทรีย์ (อินทรีย์ คือ วิริยะ) ๑๗. สตินทรีย์ (อินทรีย์ คือ สติ) ๑๘. สมาธินทรีย์ (อินทรีย์ คือ สมาธิ) ๑๙. ปัญญินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ปัญญา) หมวด ๕: ๒๐. อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ (อินทรีย์แห่งผู้ปฏิบัติด้วยมุ่งว่าเราจักรู้สัจจธรรมที่ยังมิได้รู้ ได้แก่ โสตาปัตติมัคคญาณ) ๒๑. อัญญินทรีย์ (อินทรีย์ คือ อัญญาหรือปัญญาอันรู้ทั่วถึง ได้แก่ ญาณ ๖ ในท่ามกลาง คือ โสตาปัตติผลญาณ ถึงอรหัตตมัคคญาณ) ๒๒. อัญญาตาวินทรีย์ (อินทรีย์แห่งท่านผู้รู้ทั่วถึงแล้ว กล่าวคือ ปัญญาของพระอรหันต์ ได้แก่ อรหัตตผลญาณ