คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : เดน

ของเศษของเหลือที่ไม่ต้องการ, ของเหลืออันเกินจากที่ต้องการ; "เดน" ตามที่เข้าใจกันในภาษาไทยปัจจุบัน มีความหมายไม่สู้ตรงกับที่ใช้ในทางพระวินัย อย่างน้อย ในภาษาไทย มักใช้แต่ในแง่ที่พ่วงมากับความรู้สึกเชิงว่าต่ำทรามหรือน่ารังเกียจ, "เดน" ที่ใช้กันมาในทางพระวินัย พึงแยกว่าเป็นคำแปลของคำบาลี ๒ อย่าง คือ ๑. ตรงกัับคำบาลีว่า "วิฆาส" หรือ "อุจฺฉิฏฺฐ" หมายถึงของเศษของเหลือจากที่กินที่ใช้ เช่น ภิกษุพบเนื้อเดนที่สัตว์กิน (สีหวิฆาส-เดนราชสีห์กิน, พยัคฆวิลาส-เดนเสือโคร่งกิน, โกกวิฆาส-เดนสุนัขป่ากิน เป็นต้น) จะให้อนุปสัมบันต้มย่างทอดแกงแล้วฉัน ก็ได้ ไม่เป็นอาบัติ (วินย.1/137/109), มีสิกขาบทห้ามภิกษุณี มิให้เท หรือสั่งให้เทอุจจาระ ปัสสาวะ หยากเยื่อ หรือของเป็นเดน ออกไปนอกฝาหรือนอกกำแพง (วินย.3/175/106, และ วินย.3/178/108) มิให้เทของเหล่านี้ลงไปบนพืชพันธุ์ของสดเขียวที่ชาวบ้านปลูกไว้, ทั้งนี้ ภิกษุก็ต้องปฏิบัติตามด้วยเช่นกัน), มีสิกขาบทห้ามภิกษุมิให้เอาเศษอาหาร ก้าง หรือน้ำเดนใส่บาตรออกไปทิ้ง แต่ให้ใช้กระโถน (วินย.7/54/22; และตาม วินย.2/856/557 ซึ่งมิให้ภิกษุเทน้ำล้างบาตร ที่ยังมีเมล็ดข้าวลงในละแวกบ้าน หนังสือวินัยมุขเล่ม ๒ ว่า "ของเป็นเดนก็เหมือนกัน") ๒. ตรงกับคำบาลีว่า "อติริตฺต" ซึ่งมีรากศัพท์เดียวกับอติเรก หรืออดิเรก แปลว่า ส่วนเกิน เหลือเฟือ เกินใช้ หรือเกินต้องการ หมายถึงของเหลือซึ่งเกินจากที่ต้องการ เช่นในคำ "คิลานาติริตฺต" ที่แปลว่า "เดนภิกษุไข้" ก็คือ ของเกินฉัน หรือเกินความต้องการของพระอาพาธ ทั้งนี้ พึงเข้าใจตามความในพระบาลี ดังเรื่องว่า ภิกษุทั้งหลายนำบิณฑบาตอันประณีตไปถวายพวกภิกษุอาพาธ ภิกษุอาพาธฉันไม่ได้ดังใจประสงค์ ภิกษุทั้งหลายจึงทิ้งบิณฑบาตเหล่านั้นเสีย พระผู้มีพระภาคทรงสดับเสียงนกการ้องเซ็งแซ่ จึงรับสั่งถามพระอานนท์ เมื่อทรงทราบความตามที่พระอานนท์กราบทูลแล้ว ได้ทรงอนุญาตให้ฉันอาหารอันเป็นเดน (อติริตต์) ของภิกษุอาพาธ และของภิกษุซึ่งมิใช่ผู้อาพาธได้ แต่ (สำหรับอย่างหลัง) พึงทำให้เป็นเดน โดยบอกว่า "ทั้งหมดนั่น พอแล้ว" และทรงบัญญัติสิกขาบทว่า (วินย.2/500/328) "ภิกษุใดฉันเสร็จแล้ว ห้ามภัตแล้ว เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี อันมิใช่เดน เป็นปาจิตตีย์", ที่ว่า เดน หรือ เกินฉัน ก็คือ ๒ อย่าง ได้แก่ เดนของภิกษุอาพาธ และเดนของภิกษุไม่อาพาธ ดังกล่าวแล้ว แต่เดนชนิดหลัง คืออติริตต์ของภิกษุซึ่งมิใช่ผู้อาพาธนั้น จะต้องทำให้ถูกต้องใน ๗ ประการ คือ ได้ทำให้เป็นกัปปิยะแล้ว, ภิกษุรับประเคนแล้ว, ยกขึ้นส่งให้, ทำให้หัตถบาส, เธอฉันแล้วจึงทำ, เธอฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว ยังมิได้ลุกจากอาสนะ ก็ทำ, และเธอกล่าวว่า "ทั้งหมดนั่น พอแล้ว", บางทีท่านตัดเป็น ๕ ข้อ คือ ทำให้เป็นกัปปิยะแล้ว, ภิกษุรับประเคนแล้ว, (เธอฉันแล้ว ห้ามภัตแล้ว ยังไม่ลุกจากอาสนะ) ยกขึ้นส่งให้, ทำในหัตถบาส และกล่าวว่า "ทั้งหมดนั่น พอแล้ว"