ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31
[คลิก]
คำศัพท์ : จุณณิยบท
คำร้อยแก้ว, ข้อความร้อยแก้วที่กระจายความออกไป ตรงข้ามกับคำประพันธ์ที่ผูกเป็นคำร้อยกรอง ซึ่งเรียกว่า คาถาพันธ์ หรือ คาถา; ในการจัดพุทธพจน์เป็นประเภทต่างๆ ที่เรียกว่า นวังคสัตถุศาสน์ พุทธพจน์อันเป็นคำวิสัชนาที่เป็นจุณณิยบทล้วน จัดเป็น เวยยากรณะ, พุทธพจน์ที่เป็นคาถาล้วน จัดเป็น คาถา, พุทธพจน์ที่เป็นจุณณิยบท และมีคาถาระคน จัดเป็น เคยยะ; ในประเพณีไทย เมื่อพระเทศน์ มีธรรมเนียมให้ยกข้อความบาลีขึ้นมาว่านำก่อน และในการเทศน์ทั่วไป มักยกคาถาพุทธภาษิตขึ้นเป็นบทตั้ง เรียกว่า นิกเขปบท แต่ในการเทศน์มหาชาติ ซึ่งเป็นเทศนาที่มีลักษณะเฉพาะพิเศษ นิยมยกข้อความร้อยแก้วภาษาบาลีจากอรรถกถาชาดกมากล่าวนำทีละเล็กน้อยก่อนดำเนินเรื่องในภาษาไทยต่อไป และนี่คงเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจที่เป็นความหมายใหม่ขึ้นในภาษาไทยว่า จุณณียบท คือ บทบาลี (ร้อยแก้ว) เล็กน้อย ที่ยกขึ้นแสดงก่อนเนื้อความ (พจนานุกรมเขียน จุณณียบท)
ดู นวังคสัตถุศาสน์
ตรงข้ามกับ คาถา, คาถาพันธ์