| |
บันทึกที่ ๒: ตัวเรา ของเรา ตัวกู ของกู  |   |  

ความยึดถือว่าเรา ว่าของเรา หรือที่ปราชญ์บางท่านนิยมใช้ถ้อยคำให้หนักแน่นกินใจว่า ตัวกู ของกู นั้น เป็นความรู้สึกที่ฝังแน่นในจิตของมนุษย์ มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อการดำเนินชีวิตของบุคคลแต่ละคน ต่อความสุขความทุกข์ของเขา ต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และต่อการเกิดปัญหาแทบทุกอย่างทางสังคม ในทางธรรม ถือเรื่องนี้เป็นจุดรวมแห่งความสนใจระดับแกนกลางเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไข และปฏิบัติให้ถูกต้อง จึงมีคำสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมาย ถ้อยคำที่ใช้เรียกความรู้สึกยึดถือนี้ ก็มีเป็นถ้อยคำเฉพาะหลายแบบ มีทั้งที่เป็นคำศัพท์ ทั้งที่เป็นข้อความ หรือเป็นประโยคใช้เรียกกันเป็นชุดๆ ในที่นี้ จะยกมากล่าวไว้โดยสังเขปพอเป็นแนวทางศึกษา ผู้สนใจพิเศษพึงค้นคว้าให้ละเอียดต่อไป

เบื้องแรก ขอนำถ้อยคำและข้อความเหล่านั้น มาเรียงให้ดูเป็นชุดๆ ดังนี้

ชุดที่ ๑: เอตํ มม, เอโสหมสฺมิ, เอโส เม อตฺตา-ติ

(นี่ ของเรา, เราเป็นนี่, นี่ เป็นตัวตนของเรา)

ชุดที่ ๒: อหนฺติ วา มมนฺติ วา อสฺมีติ วา

(การถือ ว่าเรา ว่าของเรา หรือว่าเราเป็น)

ชุดที่ ๓: อหังการ มมังการ มานานุสัย

(การถือว่าเรา การถือว่าของเรา อนุสัยคือมานะ)

ชุดที่ ๔: มมายิตะ หรือ มมัตตะ และอัสมิมานะ

(การยึดถือว่าเรา ว่าของเรา และมานะว่าเราเป็น)

ชุดที่ ๕: อัตตา อัตตนิยะ (+ อสฺมีติ)

(ตน และสิ่งที่เนื่องด้วยตน)

ชุดที่ ๖: ตัณหา มานะ ทิฏฐิ

ชุดที่ ๑ พบบ่อยที่สุด โดยมากมาในคำสอนให้พิจารณาแยกสัตว์บุคคลออกเป็นขันธ์ ๕ หรือเป็นส่วนประกอบอย่างอื่น เช่น อายตนะ ผัสสะ เป็นต้น หรือพิจารณาไตรลักษณ์ จนเข้าใจสภาพที่ไม่อาจยึดถือได้ว่า นี่ของเรา เราเป็นนี่ นี่เป็นตัวตนของเรา (ความตรงข้ามคือ เนตํ มม, เนโสหมสฺมิ, น เอโส เม อตฺตา-ติ) ตัวอย่างที่มา ดู วินย.4/21/26; สํ.นิ.16/291/151;สํ.นิ.16/618/292; สํ.ข.17/128/83; สํ.ข.17/192/127; สํ.ข.17/349/222; สํ.ข.17/364/228; สํ.ข.17/464/274; สํ.สฬ.18/765/465; สํ.ข.17/91/56; สํ.ข.17/34/24; สํ.ข.17/420/250; สํ.นิ.16/600-631/287-295; สํ.นิ.16/230/2114; สํ.สฬ.18/1-6/1-4; สํ.สฬ.18/35/29; สํ.สฬ.18/65/41; สํ.สฬ.18/85-87/53-55; สํ.สฬ.18/103/68; สํ.สฬ.18/109/73; สํ.สฬ.18/118/80; สํ.สฬ.18/188/133; สํ.สฬ.18/263-284/190-195; สํ.สฬ.18/790/477; ม.มู.12/101/72; ม.มู.12/281/272; ม.มู.12/342-345/350-356; ม.มู.12/342-345/350-356; ม.มู.12/398-402/430-434; ; ม.ม.13/135/135; ม.อุ.14/684/437; องฺ.จตุกฺก.21/177/222; องฺ.จตุกฺก.21/196/274; องฺ.จตุกฺก.21/181/232; องฺ.ติก.20/573/366; ม.อุ.14/769/487; องฺ.ทสก.24/93/201

ชุดที่ ๒ เป็นรูปย่อของชุดที่ ๑ นั่นเอง กล่าวคือ

อหนฺติ (ถือว่าเรา) = เอโส เม อตฺตา,

มมนฺติ (ถือว่าของเรา) = เอตํ มม,

อสฺมีติ (ถือว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ หรือยังมีเรามีเขา) = เอโสหมสฺมิ

ชุดนี้มีที่มาไม่มากนัก เช่น ม.มู.12/342-345/350-356; สํ.สฬ.18/345/245

ชุดที่ ๓ เป็นคำศัพท์ ซึ่งถือได้ว่า เป็นสรุปใจความของชุดที่ ๑ เทียบได้ดังนี้

อหังการ = เอโส เม อตฺตา,

มมังการ = เอตํ มม,

มานานุสัย = เอโสหมสฺมิ


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง