ไปยังหน้า : |
ในพระอภิธรรมปิฎก ท่านจำแนกกระบวนธรรมปฏิจจสมุปบาทออกเป็นหลายแบบ ตามประเภทแห่งจิตที่เป็นอกุศล กุศล อัพยากฤต (วิบาก และกิริยา) และซอยละเอียดออกไปอีกตามระดับจิตที่เป็น กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร โลกุตระ (อภิ.วิ.35/255-430/181-257) องค์ธรรมที่เป็นปัจจัยในกระบวนธรรมเหล่านั้นบางอย่างเปลี่ยนแปลกออกไปตามประเภทของจิตด้วย ไม่เป็นแบบเดียวเหมือนอย่างที่แสดงไว้ในพระสูตร เช่น ในกุศลจิตบางอย่าง กระบวนธรรมอาจเริ่มต้นด้วยสังขารทีเดียว ไม่มีอวิชชา หรืออาจเริ่มด้วยกุศลมูลแทนอวิชชา เป็นต้น
โดยเฉพาะที่น่าสังเกตยิ่ง คือ ตัณหามีเฉพาะในอกุศลจิตอย่างเดียวเท่านั้น ในจิตประเภทอื่นๆ ตัณหาถูกแทนด้วย ปสาทะ หรือไม่ก็ข้ามไปเสียทีเดียว ทั้งนี้เพราะอภิธรรมศึกษาจิตซอยเป็นแต่ละขณะๆ จึงวิเคราะห์องค์ธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจัยในกระบวนธรรมเฉพาะขณะนั้นๆ อวิชชาและตัณหา เป็นต้น ที่ถูกข่มถูกเบียนในขณะนั้นๆ จะไม่ถูกแสดงไว้ตามชื่อของมัน แต่แสดงในรูปองค์ธรรมอื่นที่ปรากฏเด่นชัดขึ้นมาแทนที่ หรือไม่ก็ข้ามไปทีเดียว
นอกจากนั้น บาลีในพระอภิธรรมปิฎกยังได้แสดงองค์ธรรมทั้งหลายในลักษณะที่สัมปยุต (ประกอบร่วม) และที่เป็นปัจจัยในทางกลับกัน (เช่น อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารก็เป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณก็เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร ฯลฯ) ไว้ด้วย
ในที่นี้ จะนำเอาเฉพาะกระบวนธรรมแบบหลักใหญ่มาแสดงไว้ เพื่อประกอบการพิจารณา