| |
๓. ภาวิตจิต: มีจิตที่ได้พัฒนาแล้ว  |   |  

ภาวะทางจิตที่สำคัญเป็นพื้นฐาน คือ ความเป็นอิสระ หรือเรียกตามคำพระว่าความหลุดพ้น ภาวะนี้เป็นผลสืบเนื่องจากปัญญา คือ เมื่อเห็นตามเป็นจริง รู้เท่าทันสังขารแล้ว จิตจึงพ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลส ท่านมักกล่าวบรรยายการเข้าถึงภาวะนี้ว่า

“จิตที่ปัญญาบ่มงอมแล้ว ย่อมหลุดพ้น จากอาสวะทั้งหลาย”651 หรือ

“เมื่อเธอรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากภวาสวะ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากอวิชชาสวะ652

ลักษณะด้านหนึ่งของความเป็นอิสระ ในเมื่อไม่ถูกกิเลสครอบงำ ก็คือ การไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ที่เย้ายวนหรือยั่วยุ อย่างที่ท่านเรียกว่า อารมณ์เป็นที่ตั้งของราคะหรือโลภะ โทสะ และโมหะ653 เพราะจิตปราศจากราคะ โทสะ โมหะแล้ว

ยิ่งกว่านั้น ยังมีผลสืบเนื่องจากความปราศจากราคะ โทสะ โมหะต่อไปอีก คือ ทำให้ไม่มีความหวาดเสียว สะดุ้ง สะท้าน หวั่นไหว654

นอกจากไม่มีเหตุที่จะให้ทำความชั่วเสียหายที่ร้ายแรงแล้ว ยังมีหลักประกันความสุจริตใจในการทำงานด้วย655 สามารถเป็นนายของอารมณ์ ถึงขั้นที่เรียกว่า เป็นผู้อบรมเจริญอินทรีย์แล้ว (มีอินทรียภาวนา) คือ เมื่อรับรู้อารมณ์ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น เกิดความรู้ตามปกติขึ้นมาว่า ของน่าชอบใจ ไม่น่าชอบใจ หรือเป็นกลางๆ ก็ตาม ก็สามารถบังคับสัญญาของตนได้ ให้เห็นของปฏิกูล เป็นไม่ปฏิกูล เห็นของไม่ปฏิกูล เป็นปฏิกูล เป็นต้น ตลอดจนจะสลัดทั้งปฏิกูลและไม่ปฏิกูล วางใจเฉยเป็นกลาง อยู่อย่างมีสติสัมปชัญญะ ก็ทำได้ตามต้องการ656 ดังที่กล่าวแล้วในหลักเกี่ยวกับภาวิตินทรีย์ ในด้านของภาวิตกาย เป็นผู้มีสติควบคุมตนได้ เรียกว่าเป็นคนที่ฝึกแล้ว657 หรือผู้ชนะตนเอง ซึ่งเป็นยอดของผู้ชนะสงคราม658

พร้อมกันนั้นก็มีจิตหนักแน่น มั่นคง ไม่หวั่นไหวโยกคลอนไปตามอิฏฐารมณ์อนิฏฐารมณ์ เหมือนภูเขาหินใหญ่ ไม่หวั่นไหวด้วยแรงลม659 หรือเหมือนผืนแผ่นดินเป็นต้น ที่รองรับทุกสิ่ง ไม่ขัดเคืองผูกใจเจ็บต่อใคร ไม่ว่าจะทิ้งของดีของเสียของสะอาดไม่สะอาดหรือไม่ว่าอะไรลงไป660

อีกด้านหนึ่งของความหลุดพ้นเป็นอิสระ คือ ความไม่ติดในสิ่งต่างๆ ซึ่งท่านมักเปรียบกับใบบัวที่ไม่ติดไม่เปียกน้ำ และดอกบัวที่เกิดในเปือกตม แต่สะอาดงามบริสุทธิ์ ไม่เปื้อนโคลน661 เริ่มต้นแต่ไม่ติดในกาม ไม่ติดในบุญบาป ไม่ติดในอารมณ์ต่างๆ อันจะเป็นเหตุให้ต้องรำพึงหลังหวังอนาคต ดังบาลีว่า


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |