| |
๘) กรรม กับอนัตตา ขัดกันหรือไม่?  |   |  

ปัญหาหนึ่งซึ่งแม้จะมีผู้ถามขึ้นเพียงบางครั้งบางคราว แต่เป็นความสงสัยที่ค้างอยู่ในใจผู้เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนาจำนวนไม่น้อย คือ เรื่องที่ว่า หลักกรรมกับอนัตตาขัดกันหรือไม่? ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตา คนเราทั้งกายและใจเป็นอนัตตา กรรมจะมีได้อย่างไร? ใครจะเป็นผู้ทำกรรม? ใครจะรับผลกรรม?

ความสงสัยในเรื่องนี้ มิใช่มีแต่ในบัดนี้ แม้ในครั้งพุทธกาลก็ได้มีแล้ว ดังเรื่องว่า

ภิกษุรูปหนึ่งได้เกิดความคิดสงสัยขึ้นว่า

“ทราบกันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา, แล้วดังนี้ กรรมทั้งหลายที่อนัตตาทำ จักถูกต้องตัวได้อย่างไร?”

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงหยั่งทราบความคิดสงสัยของภิกษุนั้น จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปได้ที่คนเขลาบางคนในธรรมวินัยนี้ มีใจตกอยู่ในอวิชชา ถูกตัณหาครอบงำ อาจสำคัญว่า คำสอนของพระศาสดาเป็นสิ่งที่พึงคิดไกลล้ำเลยไปได้ว่า ‘ทราบกันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา, แล้วดังนี้ กรรมทั้งหลายที่อนัตตาทำ จักถูกต้องตัวได้อย่างไร?’;

“เธอทั้งหลาย อันเราแนะนำอย่างถี่ถ้วนด้วยการทวนถาม ในข้อธรรมทั้งหลาย ในเรื่องราวทั้งหลายแล้ว จะสำคัญเห็นเป็นไฉน: รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?” “ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า” “เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?” “ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า” “สิ่งใดไม่เที่ยง,สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข?” “เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า” “สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา, ควรหรือจะมองเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา, นั่นเป็นเรา, นั่นตัวตนของเรา?’” “ไม่ควรเห็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า”

“เพราะเหตุนั้นแล รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ฯลฯ ก็เป็นแค่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ,นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เธอทั้งหลายพึงมองเห็นตามที่มันเป็น ด้วยสัมมาปัญญาอย่างนี้; อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ มองเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติดในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ฯลฯ ย่อมหลุดพ้นฯลฯ กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ย่อมไม่มี” 519

ก่อนที่จะวิจารณ์ความตามบาลีที่อ้างข้างต้น หรือพูดถึงเหตุผลต่างๆ ต่อไป ขอให้พิจารณาข้อเปรียบเทียบต่อไปนี้


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง