| |
พุทธศาสนา คือ ระบบการพัฒนาความสุข

ในพระพุทธศาสนา มีการกล่าวถึงความสุขชื่อต่างๆ หลากหลายมากมาย และจัดแบ่งไว้ ทั้งโดยขั้น และโดยประเภท เป็นสุข ๒ อย่าง ๓ อย่าง ๓ ขั้น ๕ ขั้น ฯลฯ ๑๐ ขั้น สูงขึ้นๆ ไป จนถึงความสุขอย่างสูงสุด

ลองดูชื่อความสุข ในคัมภีร์ทั้งหลาย จะเห็นว่ามากมายเหลือเกิน ที่สำคัญก็มี ไม่สำคัญก็มี เช่นว่า บริโภคสุข อุปโภคสุข โภคสุข กายสุข จิตตสุข กายิกสุข เจตสิกสุข กามสุข สามิสสุข หรืออามิสสุข นิรามิสสุข อุตุสุข เกียรติสุข ปุถุชนสุข มนุษยสุข ทิพยสุข มหาชนสุข สรรพโลกสุข มธุรสุข กุศลสุข ธรรมิกสุข ภาวนาสุข นิตยสุข สังสารสุข โยคสุข โลกิยสุข โลกุตรสุข วัฏฏสุข วิวัฏฏสุข โอฬาริกสุข สุขุมสุข สมาธิสุข ฌานสุข วิปัสสนาสุข อริยสุข อนริยสุข วิเวกสุข สันติสุข วิโมกขสุข วิมุตติสุข สัมโพธิสุข บรมสุข ดังนี้ เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อพูดในแง่การปฏิบัติ ท่านกล่าวถึงความสุขต่างๆ พร้อมทั้งบอกด้วยว่า อย่างไหน ขั้นไหน ดีอย่างไร ยังมีข้อเสียอย่างไร ความสุขอีกอย่างหนึ่ง หรืออีกขั้นหนึ่ง ดีกว่าอย่างไร

การบอกให้รู้ว่าความสุขมีมากมาย แล้วก็มีความสุขที่ดีกว่ากัน สูงกว่ากันขึ้นไป ก็เป็นการบอกให้รู้ว่าเราจะต้องมีการก้าวหน้า หรือพัฒนาขึ้นไปในความสุข หรือให้ถึงความสุขที่สูงขึ้นไปๆ เหล่านั้นด้วย

เป็นอันว่า ความสุขมีมากมาย มีหลายขั้น หลายระดับ หลายประเภท และความสุขนั้นพัฒนาได้ และทุกคนก็ควรจะพัฒนาขึ้นไป จนกว่าจะถึงความสุขที่ดีเลิศยอดเยี่ยมที่สุด

ทีนี้ การที่มีความสุขมากมายหลายอย่างหลายขั้น และสุขอย่างนั้นดีกว่า แล้วอย่างโน้นยังดียิ่งกว่านั้นอีก ตลอดจนว่าเราควรพัฒนาขึ้นไปให้ถึงความสุขที่สูงขึ้นไปนั้น ก็แสดงว่า ความสุขขั้นนั้นๆ ถึงจะดี แต่ก็ยังมีความไม่สมบูรณ์ เรียกอย่างภาษาพระว่า มีข้อดี และข้อด้อย

ตรงนี้สำคัญ เมื่อเราจะพัฒนาก้าวหน้าไปได้ ก็ต้องรู้ข้อดี และข้อด้อย เป็นการจับจุดให้ชัด แล้วจึงจะพัฒนาไปได้ ดังนั้น พระพุทธศาสนาเวลาพูดถึงอะไร ก็จึงบอกให้ดูทั้งข้อดีและข้อด้อย หรือข้อดีและข้อเสียของสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ พูดตามภาษาพระ ข้อดีเรียกว่า อัสสาทะ ข้อด้อยเรียกว่าอาทีนวะ


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |