ไปยังหน้า : |
เจ้าชายโพธิราชกุมาร ราชโอรสของพระเจ้าอุเทนแห่งพระนครโกสัมพี กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า พระองค์มีความเห็นว่า คนจะถึงความสุขด้วยความสุขหาได้ไม่ ความสุขต้องลุถึงได้ด้วยความทุกข์ยาก*19
พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ครั้งก่อนโน้น เมื่อยังไม่ได้ตรัสรู้ พระองค์ก็เคยคิดอย่างนั้น ต่อมาพระองค์เสด็จออกผนวชเที่ยวค้นคว้าว่าอะไรดี ทรงแสวงหาสันติวรบท ได้ทดลองวิธีการต่างๆ จนกระทั่งได้ทรงบําเพ็ญตบะทรมานร่างกายมากมายมีความทุกข์ยากแสนสาหัส รวมแล้วยาวนานถึง ๖ ปี ในที่สุดทรงสรุปได้ว่า นั่นมิใช่ทาง จึงทรงละเลิก แล้วเข้าสู่ทางสายกลาง ดําเนินมัชฌิมาปฏิปทา ที่มีความสุขอย่างบริสุทธิ์ตั้งแต่เริ่มแรก จนในที่สุดก็ได้ตรัสรู้โดยทรงค้นพบอริยสัจ ๔ ที่เป็นความจริงแห่งธรรมดาของธรรมชาติ
ในจูฬโคปาลสูตร พระพุทธเจ้าทรงอธิบายการทําหน้าที่พระศาสดาของพระองค์ แล้วตรัสสรุปความเป็นคาถาลงท้ายพระดํารัสสอนของพระศาสดาว่า “ปาโมชฺชพหุลา โหถ, เขมํ ปตฺเถถ ภิกฺขโว”*20 แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นผู้มากด้วยปราโมทย์ พึงปรารถนาความเกษมเถิด”
คําตรัสนี้ถือได้ว่าเป็นพระดํารัสสั่งด้วยพระทัยปรารถนาดีมีพระมหากรุณา แก่บรรดาผู้ดําเนินมรรคาที่พระองค์ทรงสอนไว้ ที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา จะเรียกว่าปฏิบัติธรรมหรืออะไรก็ตาม ก็คือมรรคาชีวิต หรือการดําเนินชีวิต อย่างที่มีการแนะนํากันว่าให้ทํางานด้วยความสุข เรียนอย่างมีความสุข ฯลฯ ก็รวมอยู่ในการดําเนินมรรคา เพียงแต่อาจต้องถามแทรกเล็กน้อย ที่ว่าสุขนั้น เป็นความสุขที่เป็นไปเองด้วยปัจจัยภายใน หรือเป็นความสุขแบบพึ่งพา ต้องอาศัยขึ้นต่อปัจจัยล่อเร้าจากข้างนอก
ความสุขที่จริงแท้ เป็นอิสระของตัวเอง เริ่มต้นก็เกิดมีเป็นไปตามเหตุปัจจัยภายในที่ตนเองสร้างขึ้นมา และให้คงอยู่มีอยู่เป็นไปได้ตามปรารถนา มรรคาที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทานั้น เป็นทางชีวิตของความสุขที่เป็นอิสระและยั่งยืนไม่ขึ้นต่อปัจจัยภายนอก ตั้งแต่ความสุขอิสระโดยสัมพัทธ์ จนเป็นความสุขล้วนที่ไร้ทุกข์ เป็นสุขที่เป็นอิสระสมบูรณ์สิ้นเชิง
ในพุทธดํารัสตรัสสอนให้เป็นผู้มากด้วยปราโมทย์ พึงปรารถนาความเกษมนั้น ก็คือภาวะจิตประจําตัวที่มีตั้งแต่เริ่มต้นดําเนินเดินทาง ไปจนตลอดถึงจุดหมายคือสมบูรณ์
ปราโมทย์นั้นท่านให้มีไว้ประจําตัวเป็นสภาพพื้นจิต ไม่แต่ที่นี่ ในที่อื่นพระพุทธเจ้าก็ตรัสเน้นไว้ เช่นว่า “ผู้มากด้วยปราโมทย์ จักทําทุกข์ให้หมดสิ้นไป”*21 “ภิกษุผู้มากด้วยปราโมทย์...พึงลุถึงสันตบทอันเป็นสุขที่สงบสังขาร”*
“ปราโมทย์” คือความร่าเริงแจ่มใส สดชื่นเบิกบานใจ เป็นภาวะจิตที่ปลอดโปร่งโล่งคล่องเบาสบาย ไม่มีความขุ่นข้องหมองใจ ไร้ความขุ่นมัวเศร้าหมอง ไม่มีความขัดเคืองขุ่นใจ ไม่ติดข้องอยู่กับความอยากได้โน่นจะเอานี่ ไม่ซึมเศร้าเหงาหงอย ไม่หดหู่ท้อแท้ ไม่ฟุ้งซ่านหรือร้อนรนกระวนกระวาย ไม่กลุ้มไม่กังวล ไม่มัวลังเล เป็นสภาพจิตที่ไม่กินพลังงาน ไม่เผาผลาญตัว เปิดกว้าง มีพลังมาเอง