| |
ปัญญามาแทนที่ ตัณหาหมดหน้าที่ มีฉันทะเต็มที่  |   |  

มาถึงจุดนี้ เข้าใจว่า ข้อสงสัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง คงจะหมดหรือหายไปด้วย คือข้อสงสัยที่ว่า พระอรหันต์เป็นผู้หมดสิ้นตัณหาแล้ว เมื่อไม่มีตัณหาซึ่งเป็นแรงชักจูงการกระทำต่างๆ พระอรหันต์มิกลายเป็นผู้อยู่นิ่งเฉย ไม่กระตือรือร้น ไม่อยากทำอะไร กลายเป็นคนไม่มีชีวิตชีวาไปหรือ

ทั้งนี้พร้อมทั้งความสงสัยที่ว่า พระอรหันต์เป็นอยู่ด้วยปัญญา จะอยู่อย่างไร มีแต่ปัญญา ไม่มีตัณหา จะทำการอะไรได้หรือ

เนื้อความเท่าที่ได้อธิบายมา น่าจะเป็นคำตอบที่กระจ่างแจ้งชัดเจนพอแล้ว เพราะได้แสดงให้เห็นว่า มิใช่ตัณหาอย่างเดียวเท่านั้น ที่เป็นแรงจูงใจชักนำพฤติกรรมของคน และตัณหาไม่ได้จูงใจให้ทำเท่านั้น แต่จูงใจให้ไม่ทำ รวมทั้งให้ขี้เกียจด้วย แต่ที่ร้ายก็คือ ไม่ว่าตัณหาจะจูงใจให้ทำหรือไม่ให้ทำ ก็เปะปะปั่นป่วนไว้ใจไม่ได้ทั้งนั้น จึงต้องพัฒนาคนให้มีแรงจูงใจที่แน่ใจว่าดีแท้ ไม่เสียหาย

เป็นอันว่า เมื่อคนพัฒนามากขึ้น ตัณหาก็ลดบทบาทลงไป พร้อมกับการจางลงของโมหะหรืออวิชชา โดยมีปัญญาพาฉันทะมาทำงานอย่างชาญฉลาด ให้เกิดผลดีทั้งแก่ชีวิตและแก่ทุกคนทุกสิ่งที่เกี่ยวข้อง

จนในที่สุด เมื่อคนพัฒนาตนจนสิ้นโมหะ เป็นพระอรหันต์ ก็ไม่ต้องพึ่งตัณหาให้ช่วยพาทำอะไรๆ แต่มีปัญญาที่รู้จริง ช่วยให้ฉันทะซึ่งชัดว่าทำอะไรจึงจะเป็นคุณเป็นประโยชน์ดีแน่ มาครองบทบาทเต็มที่ในการทำกิจกรรมและกิจการทุกอย่าง

ถึงตอนนี้ ฉันทะพาคนทำตามที่ปัญญาบอก และพระอรหันต์ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเอง เพราะเป็นบุคคลที่เต็มแล้วอิ่มแล้ว ก็จึงคิดแต่ว่าจะทำอะไรให้คนอื่นและให้ทั้งโลกมีความสุข ดังที่เคยบอกคติของพระอรหันต์ที่ว่า พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ คือ ทำการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เพื่อเกื้อการุณย์แก่ชาวโลก

ตรงนี้ คือจุดที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำ นอกจากนำคนในการพัฒนาตน ก็นำอริยชนในการบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่มวลชน พระพุทธเจ้าทำไม่หยุด เพราะทรงเป็นอิสรชน เป็นเสรีชนที่แท้ แม้แต่ข้างในก็ไม่มีตัณหามาเหนี่ยวรั้ง แต่ตรงข้าม ทรงมีฉันทะเต็มเปี่ยม จึงทำได้เต็มที่

ฉันทะที่เต็มเปี่ยมนี้ เป็นพระคุณสมบัติอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า เรียกว่าเป็นพุทธธรรมอย่างหนึ่ง ในพุทธธรรม ๑๘ ประการ คือข้อที่ว่า “(พระพุทธเจ้า) ทรงมีฉันทะไม่ลดถอยเลย” 2076

ฉันทะที่พาทำงานทำการทำกิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงนี้ ทำงานอะไร ก็ทำงานปลดปล่อยประชาชนให้พ้นจากกิเลสความชั่วร้าย จากทุกข์ภัย ปวงปัญหา พาให้ลุถึงสันติสุข ด้วยน้ำพระทัยแห่งพระมหากรุณานั่นเอง


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |