| |
ถึงจะพ้นตัณหา ได้ฉันทะมา ก็ยังต้องเดินหน้าไปกับปัญญา จนกว่าจะพ้นปัญหาแท้จริง  |   |  

มีข้อความสำคัญ ที่ขอนำมาย้ำไว้ เป็นข้อควรสังเกต และช่วยทบทวน ๓ ประการ คือ

๑. เด็กชายสองคน คือ ด.ช.ตัณหา กับ ด.ช.ฉันทะ ไปเห็นเครื่องรับวิทยุเครื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน และได้ฟังเสียงจากวิทยุนั้นด้วยกัน ด.ช.ตัณหาได้ฟังเสียงจากวิทยุแล้ว ชอบใจเสียงไพเราะและเสียงแปลกๆ เขาคิดว่า ถ้าเขามีวิทยุไว้สักเครื่อง คงจะสนุกสนานเพลิดเพลินมาก เขาจะเปิดฟังทั้งวันทีเดียว และเขาทราบมาว่า คนที่มีวิทยุมีไม่มาก ใครมีก็โก้เก๋ เขาคิดว่า ถ้าเขามีวิทยุแล้ว เขาจะเด่นมาก เพื่อนๆ จะพากันมารุมดูเขา เขาจะถือวิทยุเดินอย่างภาคภูมิใจ ไปไหนก็จะเอาไปด้วย จะเอาไปอวดคนโน้นคนนี้ คิดอย่างนี้แล้ว ด.ช.ตัณหาก็อยากได้วิทยุเป็นกำลัง กลับถึงบ้าน ก็ไปรบเร้าคุณพ่อคุณแม่ ให้ไปซื้อมาให้เขาเครื่องหนึ่งให้จงได้ เขาถึงกับคิดว่า ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ซื้อให้ เขาจะไปด้อมๆ ที่ร้าน ถ้าได้ช่อง ก็จะขโมยมาสักเครื่อง

ส่วน ด.ช.ฉันทะ ได้ฟังเสียงจากวิทยุแล้ว ก็แปลกประหลาดใจ เขาเริ่มคิดสงสัยว่า เสียงนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เครื่องที่ให้เกิดเสียงนั้นคืออะไร มันทำให้เกิดเสียงได้อย่างไร เขาทำมันอย่างไร มันมีประโยชน์อย่างไร จะเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง เขาคิดดังนั้นแล้ว ก็เกิดความอยากรู้เป็นอันมาก จึงคอยสังเกต หรือไปเที่ยวสอบถามว่าใครจะบอกเรื่องนี้แก่เขาได้ ครั้นรู้จักช่างแล้ว ก็หาโอกาสเข้าไปซักถาม ได้ความรู้หลายอย่าง ตลอดจนรู้ว่า มันมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ด.ช.ฉันทะ ครั้นเห็นว่ามันเป็นสิ่งมีประโยชน์ ใจเขาซาบซึ้งในคุณค่าของมัน บอกตัวเองว่าดีแน่ แล้วก็เกิดความอยากจะทำวิทยุขึ้นมาบ้าง

ขอให้ลองพิจารณาว่า กระแสความคิดของเด็กสองคนนี้ จะมีผลต่อพฤติกรรมและวิถีชีวิตของเขาอย่างไร และผลที่กว้างไกลออกไปถึงคนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสังคมและประเทศชาติ จะเป็นอย่างไร

ในกระบวนธรรมแห่งความคิดและพฤติกรรมของเด็กทั้งสองนี้ องค์ธรรมในตอนเริ่มต้นเหมือนกัน คือ

หู (อายตนะภายใน) + เสียง (อารมณ์) → ได้ยิน (โสตวิญญาณ) = ผัสสะ (รับรู้เสียง) → เวทนา (=สุขเวทนาคือสบายหู)

แต่ต่อจากเวทนาแล้ว กระบวนธรรมแยกไปคนละอย่าง

ด.ช.ตัณหา เมื่อได้เวทนาเป็นสุข สบายหูแล้ว ก็ชอบใจติดใจอยากฟังต่อๆ ไป คือเกิดตัณหาขึ้น เขาคิดเพ้อไปตามความอยากนั้น ซึ่งล้วนเป็นอโยนิโสมนสิการ เพราะไม่ได้คิดตามสภาวะและตามเหตุผลเกี่ยวกับเรื่องวิทยุและเสียงวิทยุนั้นเลย มีแต่ความคิดสืบทอดจากตัณหา คิดเกี่ยวกับการเสพเวทนา และการเสริมขยายตัวตน เมื่อคิดอย่างนั้น ก็เป็นการหล่อเลี้ยงอวิชชาเอาไว้ ทำให้ตัณหาเพิ่มพลังแข็งแรงและขยายตัวขึ้นอีก พฤติกรรมของเขาก็จึงเป็นไปตามความบงการของตัณหา

ส่วน ด.ช.ฉันทะ เมื่อกระบวนธรรมสืบต่อมาถึงเวทนาแล้ว เขาไม่ไหลเรื่อยต่อไปยังตัณหา แต่เกิดมีความคิดที่เป็นโยนิโสมนสิการขึ้นมาตัดหน้าตัณหาเสีย ทำให้ตัณหาชะงักดับไป โยนิโสมนสิการนั้น คือ การคิดตามสภาวะและเหตุผลว่า อารมณ์หรือสิ่งที่ประสบนั้น คืออะไร เป็นอย่างไร เป็นมาอย่างไร เป็นเพราะอะไร มีคุณโทษอย่างไร เป็นต้น ความคิดนี้ นำไปสู่การรู้เข้าใจคุณค่าของสิ่งที่ดีงาม เกิดความซาบซึ้ง มีจิตใจโน้มน้อมไปในทางที่จะรู้ความจริงและที่จะทำให้ดีให้งามให้สมบูรณ์ จึงเกิดเป็นฉันทะขึ้น และนำ ด.ช.ฉันทะไปสู่การเรียนรู้ และการกระทำสร้างสรรค์ต่อไป 2072


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |