| |
บันทึกที่ ๕: ปัญหาการแปลคำว่า “นิโรธ”  |   |  

นิโรธ” แปลกันมาอย่างเดียวว่า “ดับ” จนกล่าวได้ว่ากลายเป็นแบบตายตัว ถ้าแปลอย่างอื่น อาจถูกหาว่าแปลผิดหรือเข้าใจว่าแปลจากคำอื่น ที่ไม่ใช่นิโรธ แม้ในหนังสือนี้ก็ต้องแปลตามนิยมว่า “ดับ” เพื่อสะดวก และไม่ให้เข้าใจเป็นคำอื่น (และยังหาคำกะทัดรัดแทนไม่ได้) แต่ความจริง การแปลว่า ดับ นั่นแหละ มีหลายกรณีที่อาจทำให้เข้าใจผิด และว่าตามหลัก บางคราวก็ไม่ใช่คำแปลที่ถูกต้อง

คำว่า “ดับ” ตามปกติหมายถึง การทำสิ่งที่เกิดมีขึ้นแล้วให้หมดสิ้นไป หรือการหมดสิ้นไปของสิ่งที่เกิดมีขึ้นแล้ว แต่ “นิโรธ” ในปฏิจจสมุปบาท (และในทุกขนิโรธอริยสัจ) หมายถึง การที่สิ่งนั้นๆ ไม่เกิดขึ้น ไม่มีขึ้น เพราะไม่มีเหตุที่จะทำให้มันเกิดขึ้น เช่น เพราะอวิชชานิโรธ สังขารจึงนิโรธ ซึ่งแปลกันว่า เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ นั้น ความจริงหมายถึงว่า เพราะอวิชชาไม่มีหรือไม่เกิดขึ้น หรือหมดปัญหาที่เนื่องจากอวิชชาแล้ว สังขารก็ไม่มี ไม่เกิดขึ้น หรือจึงหมดปัญหาที่เนื่องจากสังขาร มิใช่จะต้องหมายความว่า ทำอวิชชาที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดสิ้นไป สังขารที่เกิดขึ้นแล้วจึงหมดสิ้นไป

“นิโรธ” ที่ควรแปลว่าดับนั้น ตามปกติท่านใช้ในความหมายที่แสดงสภาวะตามธรรมดา หรือธรรมชาติของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย เป็นไวพจน์อย่างหนึ่งของคำว่า ภังค์ (แตกสลาย) หรือ อนิจจะ ขยะ วยะ เป็นต้น เช่น ในบาลีว่า “อิมา โข ภิกฺขเว ติสฺโส เวทนา อนิจฺจา สงฺขตา ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนา ขยธมฺมา วยธมฺมา วิราคธมฺมา นิโรธธมฺมา” (ภิกษุทั้งหลาย เวทนาสามเหล่านี้แล เป็นสิ่งปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น ไม่เที่ยง มีอันเสื่อมสิ้น มลาย จางหาย ดับไปเป็นธรรมดา) – สํ.สฬ.18/388/266 (องค์ทุกข้อในปฏิจจสมุปบาทมีสภาวะเป็นอย่างนี้ทั้งหมด) ความหมายในแง่นี้ว่า สังขารทั้งหลายเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องเสื่อมสลายไปเองตามธรรมดาของเหตุปัจจัย ไม่ต้องไปพยายามดับ มันก็ดับ กรณีนี้มุ่งพูดแสดงสภาวะ สัมพันธ์กับการปฏิบัติเพียงว่า เป็นของเกิดได้ ก็ดับได้

ส่วน “นิโรธ” ในทุกขนิโรธอริยสัจ (=ปฏิจจสมุปบาทนิโรธวาร) แม้จะกล่าวถึงกระบวนการตามธรรมชาติ แต่เป็นกระบวนการที่แสดงโดยมุ่งให้ชี้บ่งถึงการปฏิบัติ ท่านให้แปลได้ ๒ อย่าง (วิสุทฺธิ.๓/๗๗-๗๘) อย่างหนึ่งมาจาก นิ (=อภาวะ =ไม่มี) + โรธ (=จารก =คุก ที่คุมขัง เรือนจำ ที่กักกัน เครื่องปิดล้อม สิ่งกีดขวางจำกัด) จึงแปลว่า ไม่มีสิ่งกีดกั้นจำกัด หรือหมดเครื่องกักกัน อธิบายว่า ไม่มีเครื่องปิดกั้นจำกัด อันได้แก่ที่คุมขังคือสังสาระ อีกอย่างหนึ่ง นิโรธในที่นี้ ตรงกับ อนุปปาทะ แปลว่า ไม่เกิดขึ้น วิสุทฺธิ.ฏีกา ๓/๑๗๓ กำกับความไว้อีกว่า นิโรธศัพท์ (ในที่นี้) ไม่แปลว่า ภังค์ (ดับ สลาย)

เป็นอันว่า การแปล นิโรธ ว่า ดับ ถ้าไม่ถึงกับผิด ก็ไม่สู้ตรงความหมายที่ถูกต้อง แต่จะหาคำแปลอื่น ก็ยังหาคำโดดที่รัดกุมคุมความดีไม่ได้ จึงยอมไปตามนิยมก่อน แต่ต้องทำความเข้าใจกันว่าหมายความอย่างนี้ๆ

โดยนัยนี้ สูตรปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวาร อาจแปลทำนองนี้ว่า “เพราะปลอดอวิชชา จึงปลอดสังขาร ฯลฯ” “เพราะอวิชชาปลอดไป สังขารจึงปลอดไป ฯลฯ” “เพราะอวิชชาหยุดก่อผล สังขารจึงหยุดก่อผล ฯลฯ” หรือ “เพราะอวิชชาหมดปัญหา สังขารจึงหมดปัญหา ฯลฯ” ดังนี้เป็นต้น

แม้ในปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทัยวาร ก็มีปัญหาในการแปลบ้างเหมือนกัน คำบาลีนั้นกินความหมายกว้างกว่าที่จะแปลตายตัวเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในภาษาไทย ความที่ว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ฯลฯ นั้น กินความหมายด้วยว่า “เพราะอวิชชาอย่างนี้ สังขารจึงอย่างนี้, สังขารอย่างนี้ วิญญาณจึงอย่างนี้, วิญญาณอย่างนี้ นามรูปจึงอย่างนี้, นามรูปอย่างนี้ สฬายตนะจึงอย่างนี้, สฬายตนะอย่างนี้ ผัสสะจึงอย่างนี้, ผัสสะอย่างนี้ เวทนาจึงอย่างนี้, เวทนาอย่างนี้ ตัณหาจึงอย่างนี้, ตัณหาอย่างนี้ อุปาทานจึงอย่างนี้, อุปาทานอย่างนี้ ภพจึงอย่างนี้, ภพอย่างนี้ ชาติจึงอย่างนี้, เพราะชาติ ชรามรณะจึงมี ฯลฯ”


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง