| |
อยากนิพพาน อย่างไรเป็นฉันทะ อย่างไรเป็นตัณหา  |   |  

เมื่อเข้าใจความแตกต่างระหว่างตัณหากับฉันทะในเรื่องราวหรือในกิจทั่วๆ ไปแล้ว ก็จะเข้าใจด้วยว่า ความยินดี พอใจ ความต้องการหรืออยากนิพพาน ในกรณีใดเป็นตัณหา ในกรณีใดเป็นฉันทะ

เมื่อบุคคลฟังธรรม เกิดความเข้าใจ มองเห็นโทษของกิเลสว่า โลภะ โทสะ โมหะ ทำให้จิตใจขุ่นมัวเศร้าหมอง เป็นเหตุให้ทำกรรมชั่วต่างๆ ก่อความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและผู้อื่น ถ้ากำจัดกิเลสเหล่านั้นได้แล้ว จิตใจจะสงบผ่องใส มีความสุข ไม่มีความเร่าร้อนกระวนกระวาย ดังนี้เป็นต้นแล้ว เขามองเห็นคุณค่าของความปราศจากกิเลส ความมีจิตปลอดโปร่ง สงบ ผ่องใสนั้นว่าเป็นภาวะดีงาม จิตใจของเขาก็ยินดี โน้มน้อมโอนไปหาภาวะนั้น อาการอย่างนี้ คือสิ่งที่เรียกได้ว่าฉันทะ

ภาวะจิตที่มีฉันทะอย่างนี้ ในบาลีท่านใช้ว่า ยินดี (อภิรม หรือ อภิรัต) ในนิพพานบ้าง ปรารถนา (อภิปัตถนา) นิพพานบทบ้าง ปรารถนาโยคเกษมธรรมบ้าง 2063 จัดเป็นภาวะจิตที่เป็นกุศล และเป็นคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุนิพพาน

แต่ถ้าคิดอยากได้นิพพาน อยากบรรลุนิพพาน หรืออยากเป็นผู้บรรลุนิพพาน โดยนึกขึ้นมาทำนองว่านิพพานเป็นภาวะอย่างหนึ่ง สิ่งๆ หนึ่ง หรือสถานที่แห่งหนึ่ง อันน่าปรารถนา ซึ่งตนจะได้เข้าไปครอบครอง เข้าถึงหรือเข้าไปอยู่

ในความคิดนั้น จะมีความรู้สึก หรือความเห็นซ่อนแฝงอยู่ด้วยว่า นิพพานนั้นจะอำนวยสุขเวทนาให้ตนได้เสพเสวย หรือว่าเป็นภาวะนิรันดร ที่ตนจะได้คงอยู่ยั่งยืน ตลอดจนกระทั่งว่าเป็นที่ขาดสูญ ซึ่งตัวตนจะได้หมดสิ้นไปเสียที ความยินดี ปรารถนา หรือต้องการนิพพานในกรณีเช่นนี้ จัดว่าเป็นตัณหา และจะเป็นอุปสรรคขัดขวางการบรรลุนิพพาน

แม้ความอยากเป็นพระอรหันต์ ก็มีคติอย่างเดียวกัน

อนึ่ง ความตอนนี้ชวนให้สังเกตเห็นอาการ หรือลักษณะอีกอย่างหนึ่ง ที่แตกต่างกันระหว่างฉันทะกับตัณหา กล่าวคือ ฉันทะต่อเนื่องกับการกระทำโดยตรง เป็นความพร้อม หรือเตรียมตัวที่จะทำการ หรือจะเข้าไปหาสิ่งต้องการ ซึ่งมองเห็นประจักษ์อยู่ในเวลานั้น

พูดได้ว่า ฉันทะเป็นส่วนหนึ่ง หรือเป็นขั้นตอนหนึ่งของการกระทำนั้นทีเดียว โดยเป็นจุดเริ่มต้นของการกระทำ หรือเป็นการเริ่มที่จะลงมือทำ ส่วนตัณหา เป็นความปรารถนา ในสิ่งที่เป็นเสมือนว่าตั้งอยู่ห่างออกไปในที่ของมันเองแห่งหนึ่ง ต่างหากจากตัวผู้ปรารถนา ขาดตอนจากกัน ตัณหามีความเข้าใจเพียงมัวๆ มองเห็นสิ่งนั้นไม่ชัดเจน เพียงแต่หวังที่จะได้รับผลที่ต้องการจากสิ่งนั้น แล้วก็หาทางที่จะให้ได้สิ่งนั้นมา หรือเข้าครอบครองเสพเสวยสิ่งนั้น 2064


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |