| |
สังคมจะมีสันติสุขได้ คนต้องรู้จักความสุขจากการให้  |   |  

เรื่องความสุขทางสังคม และความสุขของสังคมนั้น บอกแล้วว่าเป็นเรื่องใหญ่ ท่านสอนไว้มากมายให้ตระหนักว่าจะต้องเอาใจใส่ถือเป็นเรื่องสำคัญ

ถึงแม้จะพูดไปแล้ว ก็ยังมีเรื่องที่ควรพูดเพิ่มอีก เมื่อกี้นั้นเน้นแง่คุณธรรมในใจ คือ ที่ว่าเป็นความสุขทางสังคม ก็เป็นความสุขในตัวคน ในใจของคน ที่เป็นมิติทางสังคม ที่โยงไปในด้านของสังคม เป็นการจำแนกให้เห็นว่า คนเราแต่ละคนนี้ มีความสุขได้หลายด้าน และด้านหนึ่งคือความสุขทางสังคม

ทีนี้จะให้ชัดว่า ความสุขทางสังคมนั้น ที่จริงหมายถึงออกไปเป็นความสุขของสังคมพร้อมไปด้วย จึงต้องพูดต่อไปถึงหลักธรรมที่โยงจากคุณธรรมในใจออกไปสู่การปฏิบัติในสังคม จนเต็มกระบวน ครบวงจร

ขอเริ่มง่ายๆ ถามว่า เมื่อในใจคนเกิดมีเมตตา อยากให้คนอื่นเป็นสุข มีกรุณา อยากให้คนอื่นหลุดพ้นไปจากทุกข์นั้น เขามักแสดงออกไปด้วยการทำอะไร ที่เป็นพื้นฐานที่สุด

คำถามนั้น มาบรรจบกับคำถามนี้ว่า ธรรมะอะไรที่พระพุทธเจ้าตรัสบ่อยที่สุดสำหรับชาวบ้าน คำตอบก็ง่าย บอกว่า “ทาน

พุทธศาสนาเริ่มต้นด้วยทาน ชาวบ้านทั่วไปพอจะรู้เข้าใจหลักที่เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๓ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติชุดของคฤหัสถ์ ที่เทียบคู่กับชุดไตรสิกขาของพระสงฆ์

พูดง่ายๆ ว่า ของพระ คือไตรสิกขา ของโยม คือบุญกิริยา ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนา

บุญกิริยา ที่เรียกเต็มว่า บุญกิริยาวัตถุ ๓ (หรือบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็ตาม) เริ่มด้วยข้อแรกคือ ทาน

หลักธรรมสำคัญๆ สำหรับประชาชน หรือมนุษยชน ขอให้สำรวจดูเถิด มีทานเป็นข้อแรกทั้งนั้น

ทาน อันแปลง่ายๆ ว่า “การให้” ที่สำคัญอย่างนี้ บ่งบอกความหมายอะไร

ก็บอกให้รู้ให้ตระหนักว่า ในเรื่องของมนุษย์นั้น การแสวงหาวัตถุ การจัดสรรวัตถุ การครอบครองวัตถุ และการเสพวัตถุ เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด

แล้วที่แสวงหา ที่จัดสรร ที่ครอบครองนั้น ก็มาจบมารวมมาลงที่ “เสพ” (คลุมทั้งบริโภค) นี่แหละ

มนุษย์มีแนวคิด มีความครุ่นคิดพื้นฐานอะไร อย่างน้อยจากแรงบีบคั้นของความต้องการอยู่รอด ทำให้เขาหาทางดิ้นรนแสวงหาเพื่อตัวเอง เขาก็คิดถึงการที่จะได้จะเอา จะได้จะเอา จะได้จะเอา จนกระทั่งความคิดนี้เป็นความเคยชินติดเป็นพื้นใจ

เมื่อแสวงหา ได้มา เอาไว้ๆ ก็ไม่รู้จบ ไม่รู้พอ แต่วัตถุสิ่งเสพมีจำกัด แล้วการแย่งชิงเบียดเบียนกันก็เกิดขึ้น และแพร่ขยายออกไป สังคมมนุษย์ จนถึงทั้งโลก ก็เดือดร้อน บอกว่าไม่มีสันติภาพ

ทางแก้คือธรรมก็จึงเริ่มต้นที่ทาน ด้วยการให้ อย่างน้อยก็สร้างดุลไว้ ถ้าเป็นไปได้ พอไหว ก็ฝังเข้าไปให้เป็นนิสัยของจิต เป็นความเคยชินของความคิดติดเป็นพื้นใจ

เริ่มต้นก็บอกว่า คุณอย่าคิดแต่จะได้จะเอาอย่างเดียว จะทำให้เบียดเบียนกัน แล้วคุณเองก็จะเดือดร้อนด้วย ทางที่ถูกที่ดี คู่กับการได้การเอานี้ ก็ต้องมีการให้ด้วย คือ พร้อมกับจะได้จะเอา ก็ให้มีทานขึ้นมาเข้าคู่กัน


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |