| |
กินด้วยปัญญา พาให้กินพอดี  |   |  

หันกลับมาพูดเรื่องการกินต่อไปอีก เท่าที่กล่าวมา ได้พูดถึงแรงเร้าที่กำหนดพฤติกรรมในการกินแล้ว ๒ อย่าง คือ ความหิว และตัณหา แต่ความจริงยังมีแรงเร้าอีกอย่างหนึ่ง ที่สามารถเข้ามาร่วมกำหนดพฤติกรรมนี้ด้วย แรงเร้านั้น คือฉันทะ ความใฝ่ธรรม หรือความใฝ่ดี

ในกรณีของความหิวนั้น ฉันทะ หมายถึงความต้องการภาวะดีงาม ที่มีคุณค่าเป็นคุณประโยชน์แก่ชีวิตอย่างแท้จริง กล่าวคือ ความดำรงอยู่ด้วยดีของชีวิต หรือความเป็นอยู่อย่างดีงามของชีวิต หรือภาวะดีงามที่ชีวิตควรจะเป็น คือเมื่อชีวิตจะเป็นอยู่ ก็พึงเป็นอยู่ด้วยดี อย่างเกื้อกูล อย่างมีคุณประโยชน์ ได้แก่สุขภาพ ความอยู่สบาย ความไม่มีโรค ความไม่มีปัญหา ความไม่เป็นภาระ (เกินกว่าที่ควรจะเป็น) ความคล่องแคล่วเกื้อกูลแก่การทำกิจ เฉพาะอย่างยิ่งความเกื้อหนุนต่อการพัฒนาชีวิต

กระบวนธรรมที่ฉันทะจะเกิดขึ้น ไม่เหมือนกับตัณหา กระบวนธรรมของตัณหานั้น ก่อตัวขึ้นภายในความห่อหุ้มของอวิชชา พออร่อย พอถูกใจ ก็ชอบ พอไม่อร่อย ไม่ถูกใจ ก็ไม่ชอบ พอได้เวทนา ตัณหาก็เกิด ต่อเนื่องตามกันไปได้อย่างเป็นไปเอง ตามที่รู้สึก โดยไม่ต้องใช้ความคิด ไม่ต้องใช้ความสำนึกหรือความเข้าใจใดๆ ทั้งนั้น 2047

ส่วนกระบวนธรรมของฉันทะ เป็นกระบวนธรรมแบบดับอวิชชา หรือจะเรียกว่ากระบวนธรรมแห่งปัญญาก็ได้ คือ ต้องใช้ความคิด ความเข้าใจ หรือมีความสำนึกรู้ กล่าวคือ เมื่อจะกินอาหาร เกิดความสำนึกรู้หรือความรู้คิดเข้ามาแทรก ไม่ปล่อยกระแสความรู้สึกไหลเรื่อยจากเวทนาสู่ตัณหาเตลิดไป กระบวนธรรมฝ่ายอวิชชาตัณหาก็ดับ หรือเงียบหาย กลายเป็นกระบวนธรรมดับอวิชชาขึ้นมาแทน


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |