| |
ฉ) เมื่อพระรัตนตรัย พาเข้าและคืบไปในไตรสิกขา มรรคก็พัฒนาสู่จุดหมาย  |   |  

ในบรรดาหมวดธรรม ชุดธรรม หรือระบบการปฏิบัติที่จัดรูปออกมาจากองค์มรรคทั้งหมดนั้น หมวดธรรม หรือระบบปฏิบัติที่ถือได้ว่าเป็นระบบกลาง หรือเป็นพื้นฐาน กว้างขวางครอบคลุม และใช้เป็นมาตรฐานของการปฏิบัติมากที่สุด ก็คือ ระบบที่เรียกว่า สิกขา ๓ หรือ ไตรสิกขา ซึ่งแปลง่ายๆ ก็คือ การศึกษา ๓ ส่วน

แม้ว่าไตรสิกขาจะจัดรูปออกมาจากมรรค แต่ความสำคัญของไตรสิกขานั้น เข้าคู่เทียบเท่ากับมรรคเลยทีเดียว ดังจะเห็นว่า มรรค เป็นทางดำเนินชีวิตที่ดีงาม หรือระบบการดำเนินชีวิตที่ดีงาม หรือจะให้ตรงกว่านั้นว่า เป็นเนื้อหาของการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ส่วนไตรสิกขา เป็นระบบการศึกษา หรือระบบการฝึกฝนอบรมพัฒนาคนให้มีชีวิตที่ดีงาม หรือให้มีการดำเนินชีวิตที่ดีงามนั้น

หลักทั้ง ๒ นี้ เนื่องอยู่ด้วยกัน เพราะเมื่อมีการศึกษา มีการฝึกฝนอบรมพัฒนา ก็เกิดเป็นการดำเนินชีวิตที่ดี หรือการดำเนินชีวิตที่ดีก็เกิดมีขึ้น ดังนั้น เมื่อฝึกด้วยไตรสิกขา มรรคก็เกิดมีขึ้น หรือว่า เมื่อคนฝึกตนด้วยไตรสิกขา ชีวิตของเขาก็พัฒนาไปในมรรค เท่ากับพูดว่า การฝึกไตรสิกขา ก็เพื่อให้มรรคเกิดขึ้น

แท้จริงนั้น เนื้อหาสาระของมรรคและไตรสิกขา ก็อันเดียวกันนั่นเอง ฝึกอันใด ก็ได้อันนั้น หรือฝึกสิ่งใด สิ่งนั้นก็เจริญงอกงามขึ้น และการฝึกหรือการศึกษานั้น ก็ไม่แยกจากการดำเนินชีวิต แต่เนื่องอยู่ด้วยกันกับการดำเนินชีวิต การศึกษาเป็นการพัฒนาชีวิต หรือที่แท้ ชีวิตที่ดี ก็คือชีวิตที่ศึกษานั่นเอง

เมื่อมั่นใจในพระรัตนตรัย ไม่มัวลังเลพะวักพะวนอยู่กับการหวังพึ่งปัจจัยภายนอกทั้งหลายแล้ว ด้วยศรัทธาที่เข้าทาง เป็นสัมมาทิฏฐินี้ ใจก็มุ่งมาอยู่กับการเรียนรู้หลักการดับทุกข์แก้ปัญหาด้วยปัญญารู้เหตุปัจจัยตามหลักอริยสัจ แล้วก็ปฏิบัติตามวิธีพัฒนาตัวคนที่เป็นมรรค นี่ก็คือเข้าสู่ไตรสิกขา


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |