| |
ง) เกณฑ์วินิจฉัยกรรมดี – กรรมชั่ว  |   |  

ดังได้กล่าวแล้วว่า กรรมนิยามมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุดกับจิตนิยามและสมมตินิยาม และความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันนี้อาจเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจสับสนได้ง่าย ดังนั้น การที่จะเข้าใจเรื่องกรรมและความดีความชั่วให้ชัดเจน จะต้องแยกขอบเขตระหว่างนิยามเหล่านี้ให้ได้ก่อน

กรรมนิยามอาศัยจิตนิยามเหมือนซ้อนอยู่บนจิตนิยามนั่นเอง แต่จุดตัดแยกระหว่างกรรมนิยามกับจิตนิยามก็ชัดเจน กล่าวคือ เจตนาเป็นเนื้อหาสาระและเป็นตัวทำการของกรรมนิยาม ทำให้กรรมนิยามเป็นอิสระออกมาเป็นนิยามหนึ่งต่างหาก หรือทำให้มนุษย์เป็นอิสระมีบทบาทเป็นของตนเองต่างหากจากนิยามอื่นๆ สามารถสร้างโลกแห่งเจตจำนงของตนเองขึ้นมาได้ จนถึงกับยกตนขึ้นเทียมเท่าหรือแข่งขันกับธรรมชาติ และแบ่งแยกว่าตนมีโลกแห่งการประดิษฐ์สร้างสรรค์ต่างหากจากโลกของธรรมชาติ

เจตนาอาศัยกลไกของจิตนิยามเป็นเครื่องมือในการทำงาน และเมื่อเจตนาทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นแล้ว กระบวนการก่อผลก็ต้องอาศัยจิตนิยามนั่นแหละดำเนินไป เปรียบได้กับคนขับเรือยนต์ คนขับเหมือนเจตนาที่อยู่ฝ่ายกรรมนิยาม เครื่องเรือทั้งหมดเหมือนกลไกและองค์ประกอบต่างๆ ของจิตที่อยู่ฝ่ายจิตนิยาม คนขับต้องอาศัยเครื่องเรือ แต่เครื่องเรือจะพาเรือคือชีวิตที่พร้อมด้วยร่างกายไปสู่ที่ไหนอย่างไร คนขับเป็นอิสระที่จะทำและเป็นผู้รับผิดชอบทำให้เป็นไป คนขับทั้งอาศัยและทั้งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากเรือแล้วรับผิดชอบต่อความเป็นไปของเรือที่พร้อมทั้งเครื่องเรือและตัวเรือด้วย เหมือนกรรมนิยามทั้งอาศัยและทั้งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากจิตนิยามแล้วรับผิดชอบต่อความเป็นไปของชีวิตที่พร้อมทั้งจิตและกายด้วย

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างกรรมนิยามกับจิตนิยามนี้ ไม่สู้มีปัญหา เพราะไม่สู้มีเรื่องที่มนุษย์เอาใจใส่ และไม่ว่ามนุษย์จะใส่ใจรู้เรื่องของมันหรือแม้แต่รู้ตัวหรือไม่ก็ตาม มันก็เป็นไปตามปกติของมันเรื่อยไปอย่างมองไม่เห็นตัว

ด้านที่เป็นปัญหาสับสนอย่างมากก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างกรรมนิยามกับสมมตินิยามซึ่งมักมีปัญหาเกี่ยวกับความดีและความชั่ว ว่าอะไรดี อะไรชั่ว ที่ว่าทำดีทำชั่วเป็นความจริงที่แท้หรือไม่ อะไรเป็นเกณฑ์แบ่งว่าอะไรดี อะไรชั่ว


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง