ไปยังหน้า : |
จากใจความย่อของสติปัฏฐานที่แสดงไว้แล้วนั้น จะเห็นว่า สติปัฏฐาน (รวมทั้งวิปัสสนาด้วย) ไม่ใช่หลักการที่จำกัดว่าจะต้องปลีกตัวหลบลี้ไปนั่งปฏิบัติอยู่นอกสังคม หรือจำเพาะในกาลเวลาตอนใดตอนหนึ่ง โดยเหตุนี้ จึงมีการสนับสนุนให้นำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันทั่วไป
ว่าโดยสาระสำคัญ สติปัฏฐาน ๔ บอกให้ทราบว่า ชีวิตของเรานี้ มีจุดที่ควรใช้สติคอยกำกับดูแลทั้งหมดเพียง ๔ แห่งเท่านั้นเอง คือ ร่างกายและพฤติกรรมของมัน ๑ เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ต่างๆ ๑ ภาวะจิตที่เป็นไปต่างๆ ๑ ความคิดนึกไตร่ตรอง ๑ ถ้าดำเนินชีวิตโดยมีสติคุ้มครอง ณ จุดทั้งสี่นี้แล้ว ก็จะช่วยให้เป็นอยู่อย่างปลอดภัย ไร้ทุกข์ มีความสุขผ่องใส และเป็นปฏิปทานำไปสู่ความรู้แจ้งอริยสัจธรรม
จากข้อความในคำแสดงสติปัฏฐานแต่ละข้อข้างต้น จะเห็นได้ว่า ในเวลาปฏิบัตินั้น ไม่ใช่ใช้สติเพียงอย่างเดียว แต่มีธรรมข้ออื่นๆ ควบอยู่ด้วย ธรรมที่ไม่บ่งถึงไว้ ก็คือสมาธิ ซึ่งจะมีอยู่ด้วยอย่างน้อยในขั้นอ่อนๆ พอใช้สำหรับการนี้1550 ส่วนธรรมที่ระบุไว้ด้วยเป็นประจำ ได้แก่
๑. อาตาปี = มีความเพียร (ได้แก่ องค์มรรคข้อ ๖ คือสัมมาวายามะ ซึ่งหมายถึงเพียรระวังและเพียรละความชั่ว กับเพียรสร้างและเพียรรักษาเสริมทวีความดี)
๒. สัมปชาโน = มีสัมปชัญญะ (คือ ปัญญา)
๓. สติมา = มีสติ (หมายถึง สตินี้เอง)
ข้อพึงสังเกต คือ สัมปชาโน ซึ่งแปลว่า มีสัมปชัญญะ จะเห็นว่า สัมปชัญญะ คือปัญญานี้ เป็นธรรมที่มักปรากฏคู่กับสติ สำหรับที่นี่คือบอกว่า การฝึกในเรื่องสตินี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาปัญญานั่นเอง