| |
ก้าวสู่ขั้นมีชีวิตอิสระ เพื่อจะเป็นชาวพุทธที่แท้  |   |  

ในการนำคนให้พัฒนาผ่านขั้นต่างๆ เหล่านี้ งานสำคัญก็คือ การสั่งสอนแนะนำ และผู้ที่ถือกันว่าเป็นหลักในการทำหน้าที่นี้ ก็คือพระภิกษุสงฆ์ การพัฒนา หรือก้าวหน้าในทาง จะไปได้ช้าหรือเร็ว มากหรือน้อย ย่อมขึ้นต่อปัจจัย ทั้งฝ่ายผู้แนะนำสั่งสอน และคนที่รับคำสอน

ผู้สอนย่อมมีความสามารถมากน้อยต่างกัน คนที่ฟัง ก็เป็นผู้ก้าวเดินออกจากจุดเริ่มต้นต่างๆ กัน มีความพร้อม หรือความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ ไม่เหมือนกัน จริงอยู่ จุดหมายของการสอนและการก้าวเดิน ย่อมอยู่ ณ ขั้นที่สาม ถ้าผู้สอนมีความสามารถ ชำนาญในอนุศาสนี และคนรับคำสอนพร้อมอยู่แล้ว ก็อาจใช้เพียงอนุศาสนีอย่างเดียว พาก้าวครั้งเดียวจากขั้นที่ ๑ เข้าสู่ขั้นที่ ๓ ทันที

พระยิ่งเชี่ยวชาญในอนุศาสนีมาก ก็ยิ่งสามารถช่วยให้คนรับคำสอน เป็นผู้พร้อมขึ้นด้วย และก้าวเร็วได้ด้วย แต่พระทุกรูปมิใช่จะเก่งอนุศาสนีเหมือนกันหมด การผ่อนปรนจึงเกิดมีขึ้น

ตามปกติ ในการนำคนก้าวออกมา และเดินหน้าไปสู่ขั้นต่างๆ นั้น ผู้สอนจะต้องเข้าไปหาให้ถึงตัวเขา ณ จุดที่เขายืนอยู่ หรือไม่ก็ต้องหาอะไรหยิบยื่นโยนไปให้ เพื่อเชื่อมตัวให้ถึงกัน แล้วจึงดึงเขาออกมาได้ เมื่อผู้สอนไม่มีความสามารถ ปราศจากเครื่องมือสื่อโยงชนิดพิเศษ ก็ต้องเข้าไปให้ถึงตัวเขา แล้วพาเขาเดินออกมาด้วยกันกับตน โดยเริ่มจากจุดที่เขายืนอยู่นั้นเอง

คงจะเป็นด้วยเหตุเช่นนี้ จึงมีการผ่อนปรนในรูปต่างๆ ซอยละเอียดออกไป อันจัดรวมเข้าในขั้นที่ ๒ ของการพัฒนา

หลักการของการผ่อนปรนนี้ก็คือ การใช้สิ่งที่เขายึดถืออยู่เดิมนั่นเอง เป็นจุดเริ่มต้น วิธีเริ่มอาจทำโดยแกะสิ่งที่เขายึดหรือเกาะติดอยู่นั้น ออกจากฐานเดิม แล้วหันเหบ่ายหน้ามาสู่ทิศทางที่ถูกต้อง พร้อมทั้งใช้สิ่งที่เขายึดเกาะอยู่นั้น เป็นเครื่องจูงเขาออกมาจนพ้นจากที่นั้น


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |