| |
มนุษย์เป็นสัตว์วิเศษ ต้องเพิ่มเดชด้วยฉันทะ มิใช่จะมัวเป็นทาสของตัณหา |  

ถึงตอนนี้ ควรจะลงข้อสรุปเสียทีหนึ่ง มีสภาพความจริงที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพิจารณาอยู่ว่า เป็นธรรมดาของมนุษย์ปุถุชนย่อมยังมีตัณหา การที่จะให้มนุษย์ปุถุชนเหล่านี้ทำการใดโดยไม่มีตัณหาเข้ามาเกี่ยวข้องชักจูงด้วยเลยนั้น เป็นอันแทบไม่ต้องหวัง ดังนั้น จึงไม่ต้องกลัวว่าคนจะไม่มีตัณหา

ข้อควรคำนึงอยู่ที่ว่า ตัณหาเป็นสิ่งมีโทษ เป็นตัวการก่อทุกข์หรือปัญหาทั้งหลาย ทั้งแก่บุคคลและสังคม จึงต้องหาทางแก้ไข ไม่ให้มีโทษภัยเหล่านั้น วิธีแรก คือ ละ หรือไม่ให้เกิดขึ้นอย่างสิ้นเชิง ซึ่งทำได้โดยการดับอวิชชาด้วยปัญญาแล้ว ดำเนินชีวิตด้วยปัญญาอย่างเดียว

แต่สำหรับปุถุชน ผู้ดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งล่อเร้าเย้ายวนและเรื่องราวกระทบกระทั่งต่างๆ โดยยังมีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน พรั่งพร้อมอยู่ภายใน คอยรอขานรับสิ่งล่อเร้าเป็นต้นนั้นอยู่ตลอดเวลา ถึงจะระมัดระวัง นึกอยากจะใช้ปัญญาเพียงไร ก็อดไม่ได้ที่จะเผลอ ปล่อยให้ตัณหาได้โอกาสแสดงบทบาทเบาบ้าง แรงบ้าง โจ่งแจ้ง หรือไม่ก็แอบแฝง ไม่ที่จุดหรือขั้นตอนแห่งใด ก็แห่งหนึ่ง

หนทางแก้ไขที่พึงเน้นก็คือ การพยายามใช้ และปลูกฝังฉันทะ ที่เป็นความต้องการสิ่งดีงามขึ้นมา ให้เป็นตัวชักนำการกระทำให้มากที่สุด

มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีสมองเจริญมากแล้ว จะอยู่ด้วยอวิชชา-ตัณหาอย่างสัตว์ทั้งหลายอื่นไม่ได้ จะต้องมีความต้องการภาวะดีงาม หรือความใฝ่ดี เป็นแรงควบคุม หรือถ่วงคานไว้บ้าง มิฉะนั้นก็จะสามารถทำความชั่วร้ายก่ออันตรายได้อย่างร้ายแรงที่สุด เพียงเพื่อได้สิ่งเสพเสวยสุขเวทนา หรือปกป้องเสริมรักษาความมั่นคงถาวรแห่งของตน หรือหาทางพ้นไปจากสิ่งที่ไม่ถูกใจไม่ปรารถนา

มนุษย์จำนวนมากทีเดียว แม้แต่เมื่อรู้จักฉันทะบ้างแล้ว แต่ตัณหายังแรงกล้าเกินไป ก็ยังทนทำการโดยทางดีตามที่สำนึกแห่งความดีหรือสังคมกำหนดไว้ให้ตลอดไปไม่ไหว คอยแต่จะหลีกไปหาทางลัด เพื่อให้ได้สิ่งที่ตัณหาต้องการ

เรื่องของปุถุชนทั่วไป จึงยังอยู่ในขั้นของการเลือกเอา ระหว่างการดำรงอยู่เพียงด้วยแรงตัณหาอย่างเดียว หรือปล่อยให้ตัณหาเป็นตัวนำครอบงำพฤติกรรมส่วนใหญ่ กับการที่สามารถเชิดชูฉันทะให้เป็นตัวเด่นขึ้นมา และนำชีวิตให้หลุดพ้นจากอำนาจบงการของอวิชชาตัณหาอุปาทานมากขึ้นโดยลำดับ

ข้อควรปฏิบัติก็คือ ถ้าเป็นไปได้ ควรให้มีแต่ฉันทะล้วนๆ แต่ถ้าทำไม่ได้ ยังยอมให้ตัณหาออกโรง ก็ควรหันเหให้เป็น ตัณหาที่หนุนฉันทะ คือเป็นปัจจัยแก่ฉันทะ

เมื่อสามารถสร้างเสริมฉันทะขึ้นมานำพฤติกรรมได้ ตัณหาก็ถูกควบคุมและขัดเกลาไปเองในตัว

อย่างนี้จึงจะเป็นวิธีการละ และควบคุมตัณหา ตามหลักพุทธธรรม ไม่ใช่ไปคุมไปกักกดไปละลดกันทื่อๆ อย่างไม่รู้เรื่องรู้ราวไม่รู้ที่ไปที่มา ปล่อยให้อวิชชาสุมตัวหนุนอยู่หลังตัณหา จะยิ่งก่อผลร้ายมากกว่าผลดี


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |