| |
ส่วนเสีย หรือข้อด้อยของกามสุข  |   |  

กาม คืออะไร? “กาม” แปลว่า ความอยาก ความรัก ความใคร่ ความปรารถนา หรือสิ่งที่อยาก ที่รัก ที่ใคร่ ที่ปรารถนา พูดง่ายๆ ว่า สิ่งเสพ วัตถุบำรุงบำเรอความสุข เครื่องอำนวยความสะดวกสบาย คน สัตว์ ทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของสารพัด ที่อยากได้อยากมี ที่จะครอบครองเอาไว้ให้ได้ความสุข รวมแล้วก็จัดแยกได้เป็น “กามคุณ ๕” คือ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งต้องกาย ที่ใคร่ที่ใฝ่ปรารถนา ที่จะให้ “กามสุข” คือสุขทางประสาททั้ง ๕ สุขทางวัตถุ หรือสุขทางเนื้อหนัง บางทีเรียกว่า สามิสสุข คือสุขอาศัยอามิส หรือสุขจากสิ่งเสพ (อามิสสุข ก็เรียก)

ถึงตอนนี้มีปัญหาว่า กามสุขนั้น มีมากมาย หลายอย่าง หลายระดับ ที่ล้ำเลิศก็มี ที่เป็นทิพย์ก็มี และท่านก็ยอมรับว่าเป็นความสุข แต่กามสุขทั้งหมดนั้นมีข้อบกพร่องอย่างไร และความสุขที่ว่าประณีตยิ่งขึ้นไปอีกนั้นดีอย่างไร ทำไมท่านผู้ได้ประสบรู้จักสุขประณีตนั้นแล้ว จึงว่าดีเยี่ยมกว่ากามสุข ถึงกับละเลิกกามสุขไปเสียทีเดียว

ส่วนเสีย คือโทษและข้อบกพร่องต่างๆ ของกามนี้ กล่าวโดยย่อ มองได้ ๓ ด้าน หรือมี ๓ ตำแหน่ง คือ มองที่ภายในตัวบุคคล มองที่ตัวกามนั้นเอง และมองที่ปฏิบัติการของผู้เสพเสวยกามในสังคมหรือในโลก

อย่างแรก มองที่ในตัวบุคคล หมายถึง มองที่กระบวนการก่อทุกข์ภายในตัวบุคคล คือการที่บุคคลปฏิบัติผิดต่อโลกและชีวิต ทำให้สิ่งทั้งหลายกลายเป็นกาม แล้วก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง

อย่างที่สอง มองที่ตัวกาม หมายถึง มองที่สิ่งซึ่งได้ชื่อว่ากาม ที่มนุษย์พากันแสวงหามาเสพเสวย หรือมองดูที่รสของกาม มองดูความสุขความพึงพอใจอันจะได้จากกามนั้นเองว่า มีจุดบกพร่องอย่างไร

อย่างที่สาม มองที่ปฏิบัติการในโลก หมายถึง มองดูที่ผลอันเกิดจากความสัมพันธ์ทางสังคม เป็นต้น ของมนุษย์ทั้งหลายผู้แสวงหาและเสพเสวยกาม

ความจริง ทั้งสามอย่างสัมพันธ์อาศัยกัน แต่แยกมอง เพื่อเห็นลักษณะที่เป็นไปในด้านต่างๆ

ด้านที่ ๑ มองดูที่ในตัวบุคคล ได้แก่ กระบวนการก่อทุกข์ตามหลักปฏิจจสมุปบาท เริ่มแต่การรับรู้ประสบการณ์ต่างๆ แล้ว วางท่าทีต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างผิดพลาด ปล่อยให้กระแสกระบวนธรรมดำเนินไปตามแนวทางของอวิชชา-ตัณหาอยู่เสมอ จนกลายเป็นการสั่งสมอันเคยชิน จะเรียกง่ายๆ ว่า การสั่งสมความพร้อมที่จะมีทุกข์ หรือความพร้อมที่จะมีและก่อปัญหา ก็ได้ กระบวนการนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในเรื่องพัฒนาการของบุคคล เริ่มต้นตั้งแต่เกิดในครรภ์จนเติบโต ดังที่ได้เล่ามาส่วนหนึ่งแล้ว จึงจะเล่าต่อจากส่วนนั้นต่อไป


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |