| |
ขันธ์ ๕ กับอุปาทานขันธ์ ๕ หรือชีวิต กับชีวิตซึ่งเป็นปัญหา  |   |  

ในพุทธพจน์แสดงความหมายของอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ประมวลใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา มีข้อความที่น่าสังเกตเป็นพิเศษเกี่ยวกับขันธ์ ๕ ปรากฏอยู่ในอริยสัจข้อที่ ๑ คือ ข้อว่าด้วยทุกข์

ในอริยสัจข้อที่ ๑ นั้น ตอนต้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงความหมายหรือคำจำกัดความของทุกข์ ด้วยวิธียกตัวอย่างเหตุการณ์ต่างๆ ที่มองเห็นได้ง่ายและมีอยู่เป็นสามัญในชีวิตของบุคคล ขึ้นแสดงว่าเป็นความทุกข์แต่ละอย่างๆ แต่ในตอนท้าย พระองค์ตรัสสรุปลงเป็นข้อเดียวว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ดังพุทธพจน์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย นี้คือ ทุกขอริยสัจ:- ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์” 48

พุทธพจน์นี้ นอกจากแสดงถึงฐานะของขันธ์ ๕ ในพุทธธรรมแล้ว ยังมีข้อสังเกตสำคัญ คือ ความหมายของ “ทุกข์” นั้น จำง่ายๆ ด้วยคำสรุปที่สั้นที่สุดว่า คือ อุปาทานขันธ์ ๕ หรือเบญจอุปาทานขันธ์เท่านั้น และคำว่าขันธ์ในที่นี้ มี “อุปาทาน” นำหน้ากำกับไว้ด้วย

สิ่งที่ควรศึกษาในที่นี้ ก็คือคำว่า “ขันธ์” กับ “อุปาทานขันธ์” ซึ่งขอให้พิจารณาตามพุทธพจน์ ต่อไปนี้

“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์ ๕ เธอทั้งหลายจงฟัง”

“ขันธ์ ๕ เป็นไฉน? รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม ทรามก็ตาม ประณีตก็ตาม ไกลหรือใกล้ก็ตาม...เหล่านี้ เรียกว่า ขันธ์ ๕”

“อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม ทรามก็ตาม ประณีตก็ตาม ไกลหรือใกล้ก็ตาม ที่ประกอบด้วยอาสวะ (สาสวะ) เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน (อุปาทานิยะ)... เหล่านี้ เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕” 49

“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน และตัวอุปาทาน เธอทั้งหลายจงฟัง”

“รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ คือธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ฉันทราคะ (ความชอบใจจนติด หรืออยากอย่างแรงจนยึดติด) ในรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ นั้นคืออุปาทาน ใน (สิ่ง) นั้นๆ” 50

หลักดังกล่าวนี้ เป็นพื้นฐานความเข้าใจที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในการศึกษาพุทธธรรมต่อๆ ไป


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง