| |
ปฏิจจสมุปบาท ในฐานะมัชเฌนธรรมเทศนา  |   |  

ความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาท เรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ หรือเห็นถูกต้อง และความเห็นที่ถูกต้องนี้เป็นความเห็นชนิดที่เรียกว่าเป็นกลางๆ ไม่เอียงสุดไปทางใดทางหนึ่ง ปฏิจจสมุปบาทจึงเป็นหลักหรือกฎที่แสดงความจริงเป็นกลางๆ ไม่เอียงสุด อย่างที่เรียกว่า “มัชเฌนธรรมเทศนา” 359

ความเป็นกลางของหลักความจริงนี้ มีโดยการเทียบกับลัทธิหรือทฤษฎีเอียงสุดต่างๆ และความเข้าใจปฏิจจสมุปบาทโดยถูกต้อง จะต้องแยกออกจากทฤษฎีเอียงสุดเหล่านี้ด้วย ดังนั้น ในที่นี้ จึงควรนำทฤษฎีเหล่านี้มาแสดงไว้เปรียบเทียบเป็นคู่ๆ โดยการใช้วิธีอ้างพุทธพจน์เป็นหลัก และอธิบายให้น้อยที่สุด:

คู่ที่ ๑: ๑. อัตถิกวาทะ 360 ลัทธิว่าสิ่งทั้งหลายมีอยู่จริง (Extreme realism)

๒. นัตถิกวาทะ ลัทธิว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีจริง (Nihilism)

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า “สัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ” ดังนี้ แค่ไหน จึงจะชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ?”

“แน่ะ ท่านกัจจานะ โลกนี้โดยมากอิง (ทฤษฎีของตน) ไว้กับภาวะ ๒ อย่างคือ อัตถิตา (ความมี) และนัตถิตา (ความไม่มี) เมื่อเห็นโลกสมุทัยตามที่มันเป็นด้วยสัมมาปัญญา นัตถิตาในโลกก็ไม่มี เมื่อเห็นโลกนิโรธตามที่มันเป็นด้วยสัมมาปัญญา อัตถิตาในโลกนี้ก็ไม่มี

โลกนี้โดยมากยึดมั่นถือมั่นในอุบาย (systems) และถูกคล้องขังไว้ด้วยอภินิเวส (dogmas) ส่วนอริยสาวก ย่อมไม่เข้าหา ไม่ยึด ไม่ติดอยู่กับความยึดมั่นถือมั่นในอุบาย ความปักใจ อภินิเวส และอนุสัยว่า “อัตตาของเรา” ย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่า “ทุกข์นั่นแหละ เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์ เมื่อดับ ก็ย่อมดับ อริยสาวกย่อมมีญาณในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องอาศัยผู้อื่นเลย เพียงเท่านี้แล ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ

“ดูก่อนกัจจานะ ข้อว่า “สิ่งทั้งปวงมีอยู่” นี้เป็นที่สุดข้างหนึ่ง ข้อว่า “สิ่งทั้งปวงไม่มี” นี้เป็นที่สุดข้างหนึ่ง ตถาคตย่อมแสดงธรรมเป็นกลางๆ ไม่เข้าไปติดที่สุดทั้งสองนั้นว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ เพราะอวิชชานั่นแหละสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับไป วิญญาณจึงดับ ฯลฯ” 361

พราหมณ์นักโลกายัตคนหนึ่งมาเฝ้าทูลถามปัญหาว่า “ท่านพระโคตมะผู้เจริญ สิ่งทั้งปวงมีอยู่หรือ?”

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ข้อว่า ‘สิ่งทั้งปวงมี’ เป็นโลกายัตหลักใหญ่ที่สุด”

ถาม “สิ่งทั้งปวงไม่มีหรือ?”

ตอบ “ข้อว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่มี’ เป็นโลกายัตที่สอง”

ถาม: “สิ่งทั้งปวงเป็นภาวะหนึ่งเดียว (เอกัตตะ – unity) หรือ?”

ตอบ: “ข้อว่า ‘สิ่งทั้งปวงเป็นภาวะหนึ่งเดียว’ เป็นโลกายัตที่สาม”

ถาม: “สิ่งทั้งปวง เป็นภาวะหลากหลาย (ปุถุตตะ – plurality) หรือ ?”

ตอบ: “ข้อว่า ‘สิ่งทั้งปวงเป็นภาวะหลากหลาย’ เป็นโลกายัตที่สี่”


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง