| |
- เมื่อจบการศึกษา คนก็พัฒนาเป็น “ภาวิต”

ดังที่ว่าแล้ว หน้าที่ต่อมรรค ได้แก่ ภาวนา แปลว่า พัฒนา หรือเจริญ คือ ลงมือทํา ปฏิบัติ จึงมีคําที่เรียกรวมว่า “มรรคภาวนา

เพื่อช่วยให้มรรคภาวนา คือการพัฒนากระบวนชีวิตนี้ก้าวหน้าไปอย่างดีที่สุด ก็จึงจัดตั้งระบบการศึกษาที่เรียกว่า “ไตรสิกขา” ขึ้นมา

เมื่อการศึกษาได้ผลดี มรรคภาวนาดําเนินไปสําเร็จสมบูรณ์ ก็ทําให้บุคคลนั้นๆ เป็น “ภาวิต” คือเป็นคนที่พัฒนาแล้ว แยกเป็น ๔ ด้าน คือ

๑. ภาวิตกาย มีกายที่พัฒนาแล้ว คือมีความสัมพันธ์ดีต่อสิ่งแวดล้อมด้านธรรมชาติและวัตถุธรรม รู้จักชื่นชมรมณีย์ ดูเป็นฟังเป็น กินเป็น ใช้เป็น

๒. ภาวิตศีล ศีลที่พัฒนาแล้ว คือมีความสัมพันธ์ที่ดีงามเกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อมทางสังคม อยู่กันด้วยไมตรี ไม่เบียดเบียน ช่วยเหลือกัน

๓. ภาวิตจิต มีจิตใจที่พัฒนาแล้ว คือมีคุณภาพจิตดี มีคุณธรรม จิตใจเข้มแข็ง เช่น พากเพียร อดทน มีสติ มีปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ

๔. ภาวิตปัญญา มีปัญญาที่พัฒนาแล้ว คือมีความรู้เข้าใจเข้าถึงสัจธรรม ที่ทําจิตใจให้เป็นอิสระ รู้จักใช้ปัญญาแก้ปัญหา และทําการให้สําเร็จ


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง