| |
เหตุใดสติที่ตามทันขณะปัจจุบัน จึงเป็นหลักสำคัญของวิปัสสนา?  |   |  

กิจกรรมสามัญที่สุดของทุกๆ คน ซึ่งเป็นไปอยู่ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน ก็คือ การรับรู้อารมณ์ต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

เมื่อมีการรับรู้ ก็มีความรู้สึกพร้อมไปด้วย คือ สุขสบายบ้าง ทุกข์ระคายเจ็บปวด ไม่สบายบ้าง เฉยๆ บ้าง เมื่อมีความรู้สึกสุขทุกข์ ก็มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นในใจด้วย คือ ถ้าสุขสบายที่สิ่งใด ก็ชอบใจติดใจสิ่งนั้น ถ้าไม่สบายได้ทุกข์ที่สิ่งใด ก็ขัดใจไม่ชอบสิ่งนั้น เมื่อชอบ ก็อยากรับรู้อีก อยากเสพซ้ำ หรืออยากได้ อยากเอา เมื่อไม่ชอบ ก็เลี่ยงหนี หรืออยากกำจัด อยากทำลาย

กระบวนการดังกล่าวนี้ ดำเนินไปตลอดเวลา มีทั้งอย่างแผ่วๆ ที่ผ่านไปโดยไม่ได้สังเกต และที่แรงเข้ม สังเกตได้เด่นชัด มีผลต่อจิตใจอย่างชัดเจน และสืบเนื่องไปนาน ส่วนใดแรงเข้ม หรือสะดุดชัด ก็มักชักให้มีความคิดปรุงแต่งยืดเยื้อเยิ่นเย้อออกไป ถ้าไม่สิ้นสุดที่ในใจ ก็ผลักดันให้แสดงออกมาเป็นการพูด การกระทำต่างๆ ทั้งน้อยและใหญ่

ชีวิตของบุคคล บทบาทของเขาในโลก และการกระทำต่อกันระหว่างมนุษย์ ย่อมสืบเนื่องออกมาจากกระบวนธรรมน้อยๆ ที่เป็นไปในชีวิตแต่ละขณะๆ นี้เป็นสำคัญ

ในทางปัญญา การปล่อยจิตใจให้เป็นไปตามกระบวนธรรมข้างต้นนั้น คือ เมื่อรับรู้แล้ว รู้สึกสุขสบาย ก็ชอบใจ ติดใจ เมื่อรับรู้แล้ว รู้สึกทุกข์ ไม่สบาย ก็ขัดใจ ไม่ชอบใจ ข้อนี้จะเป็นเครื่องกีดกั้นปิดบัง ทำให้ไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง หรือตามสภาวะที่แท้ของมัน ทั้งนี้เพราะจิตใจที่เป็นไปเช่นนั้น จะมีสภาพต่อไปนี้

• ข้องอยู่ที่ความชอบใจ หรือความขัดใจ ตกอยู่ในอำนาจของความติดใจ หรือขัดใจนั้น ถูกความชอบใจหรือไม่ชอบใจนั้นเคลือบคลุม ทำให้มองเห็นเอนเอียงไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ตรงตามที่มันเป็นจริง

• ตกอดีต หรือลอยอนาคต กล่าวคือ เมื่อคนรับรู้แล้ว เกิดความชอบใจหรือไม่ชอบใจ จิตของเขาจะข้องหรือขัดอยู่ ณ ส่วนหรือจุดหรือแง่ ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ ของอารมณ์นั้น และจับเอาภาพของอารมณ์นั้น ณ จุดหรือส่วนหรือแง่ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจนั้น เก็บค้างไว้หรือเอาไปทะนุถนอม และคิดปรุงแต่งหรือฝันฟ่ามต่อไป

การข้องอยู่ที่ส่วนใดก็ตาม ซึ่งชอบใจหรือไม่ชอบใจ และการจับอยู่กับภาพของสิ่งนั้นซึ่งปรากฏอยู่ในใจของตน คือการเลื่อนไหลลงสู่อดีต การคิดปรุงแต่งต่อไปเกี่ยวกับสิ่งนั้น คือการเลื่อนลอยไปในอนาคต

ความรู้ความเข้าใจของเขาเกี่ยวกับสิ่งนั้น ก็คือภาพของสิ่งนั้น ณ จุดหรือตอนที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ หรือซึ่งเขาได้คิดปรุงแต่งต่อไปแล้ว ไม่ใช่สิ่งนั้นตามที่มันเป็นของมันเองในขณะนั้นๆ

• ตกอยู่ในอำนาจของความคิดปรุงแต่ง จึงแปลความหมายของสิ่งที่รับรู้ หรือประสบการณ์นั้นๆ ไปตามแนวทางของภูมิหลัง หรือความเคยชินที่ได้สั่งสมไว้ เช่น ค่านิยม ทัศนคติ หรือทิฏฐิที่ตนยึดถือนิยมเชิดชู เรียกว่าจิตตกอยู่ในภาวะถูกปรุงแต่ง ไม่อาจมองอย่างเป็นกลางให้เห็นประสบการณ์ล้วนๆ ตามที่มันเป็น

• นอกจากถูกปรุงแต่งแล้ว ก็จะนำเอาภาพปรุงแต่งของประสบการณ์ใหม่นั้น เข้าไปร่วมในการปรุงแต่งต่อไปอีก เป็นการเสริมซ้ำการสั่งสมนิสัยความเคยชินของจิตให้แน่นหนายิ่งขึ้น

ความเป็นไปเช่นนี้ มิใช่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องหยาบๆ ตื้นๆ ในการดำเนินชีวิตและทำกิจการทั่วไปเท่านั้น แต่ท่านมุ่งเน้นกระบวนของจิตในระดับละเอียดลึกซึ้ง ที่ทำให้ปุถุชนมองเห็นสิ่งทั้งหลายเป็นของคงที่ เป็นชิ้นเป็นอัน มีสวยงามน่าเกลียด ติดในสมมติต่างๆ ไม่เห็นความเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ดำเนินอยู่ตลอดเวลา


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |