| |
ง) หลักการปฏิบัติที่จัดเป็นระบบ  |   |  

พุทธพจน์ที่แสดงหลักการปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพาน มักเป็นไปในรูปของคำสอนให้พิจารณาสภาวธรรมอย่างที่ได้ยกมาอ้างไว้แล้วข้างต้น หากจะแสดงลำดับขั้นตอนของการปฏิบัติ ที่จะเรียกได้ว่าเป็นระบบ ก็เป็นเพียงการแสดงขั้นตอนอย่างกว้างๆ

พุทธพจน์แนวนี้ ที่นับว่าละเอียดที่สุด และพบบ่อยที่สุด ก็คือ คำสอนแสดงความก้าวหน้าในการประพฤติพรหมจรรย์ของพระภิกษุ ตั้งแต่ออกบวช จนบรรลุอาสวักขย 995

อีกแนวหนึ่ง ที่นับว่าใกล้เคียง ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงเองบ้าง พระสาวกแสดงบ้าง เป็นครั้งคราว คือ แนวจรณะ ๑๕ และวิชชา ๓ 996

นอกจากนี้ ก็มีแต่ที่แสดงเพียงลำดับหัวข้อ เป็นชุดๆ เช่น วิสุทธิ ๗ 997 วิสุทธิ ๙ 998 เป็นต้น

การที่เป็นอย่างนี้ สันนิษฐานได้ว่า แบบแผน และรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนของการปฏิบัติ คงเป็นเรื่องที่ท่านทำและนำสืบๆ กันมา ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง ตามกระบวนวิธีที่อาจารย์สั่งสอนและฝึกหัดศิษย์ นอกจากนั้น รายละเอียดปลีกย่อยก็ย่อมแตกต่างกันไป ตามกลวิธีของอาจารย์ต่างสำนักกันด้วย ประเพณีปฏิบัติคงดำเนินมาเช่นนี้ จนถึงยุคของพระอรรถกถาจารย์ ท่านจึงได้นำเอาแบบแผนและรายละเอียดบางส่วนของขั้นตอนการปฏิบัติเหล่านั้น มาเรียบเรียงบันทึกไว้ในคัมภีร์ ดังตัวอย่างที่เด่น คือ ในวิสุทธิมัคค์

คัมภีร์วิสุทธิมัคค์ นอกจากแสดงลำดับขั้นตอนและแบบแผนการฝึกด้านกิจกรรมภายนอกแล้ว ยังแสดงลำดับขั้นของความเจริญก้าวหน้าภายใน คือการที่ปัญญาแก่กล้าขึ้นเป็นระดับๆ จนตรัสรู้ อย่างที่เรียกลำดับญาณด้วย เค้าโครงทั่วไปของการปฏิบัติ ท่านถือตามหลักการของไตรสิกขา แล้วขยายออกตามแนววิสุทธิ ๗ ส่วนขั้นตอนของความเจริญปัญญาภายใน (วิปัสสนาญาณ) ท่านขยายความจากเนื้อหาบางส่วนในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ 999

ในที่นี้ จะแสดงระบบการปฏิบัติ ที่สรุปตามแนวของคัมภีร์วิสุทธิมัคค์นั้น 1000 ซึ่งแสดงได้เป็นขั้นตอน

เบื้องแรก พึงเข้าใจความหมายของคำศัพท์สำคัญก่อน

วิสุทธิ แปลว่า ความหมดจด คือความบริสุทธิ์ที่สูงขึ้นไปเป็นขั้นๆ หมายถึง ธรรมที่ชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์ ยังไตรสิกขาให้บริบูรณ์เป็นขั้นๆ ไปโดยลำดับ จนบรรลุจุดหมายคือนิพพาน จำแนกเป็น ๗ ขั้น ดังจะแสดงต่อไป

ปริญญา แปลว่า การกำหนดรู้ หรือทำความรู้จัก หมายถึง การทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ โดยครบถ้วน หรือรอบด้าน แบ่งเป็น ๓ ขั้น คือ 1001

๑) ญาตปริญญา กำหนดรู้ขั้นรู้จัก คือ รู้ตามสภาวลักษณะ ได้แก่ รู้จักจำเพาะตัวของสิ่งนั้น ตามสภาวะของมัน เช่นรู้ว่า นี้คือเวทนา เวทนาคือสิ่งที่มีลักษณะเสวยอารมณ์ นี้คือสัญญา สัญญาคือสิ่งที่มีลักษณะกำหนดได้หมายรู้ ดังนี้เป็นต้น (รู้ว่าคืออะไร)


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |