| |
๙. วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน  |   |  

วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในขณะปัจจุบัน หรือวิธีคิดแบบมีปัจจุบันธรรมเป็นอารมณ์ เรียกสั้นๆ ว่า วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน อันจัดเป็นวิธีคิดแบบที่ ๙ นี้ เป็นเพียงการมองอีกด้านหนึ่งของการคิดแบบอื่นๆ จะว่าแทรกหรือคลุมวิธีคิดแบบก่อนๆ ที่กล่าวมาแล้ว ก็ได้ แต่ที่แยกออกมาแสดงเป็นอีกข้อหนึ่งต่างหาก ก็เพราะมีแง่ที่ควรทำความเข้าใจพิเศษ และมีความสำคัญโดยลำพังตัวของมันเอง

อนึ่ง วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในขณะปัจจุบันนี้ มีเนื้อหารวมอยู่ในสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งจะกล่าวถึงในองค์มรรคข้อที่ ๗ คือ สัมมาสติด้วย แต่ที่แยกบรรยาย ก็เพราะเพ่งความหมายคนละแง่ กล่าวคือ ในสติปัฏฐาน การบรรยายเพ่งถึงการตั้งสติระลึกรู้เต็มตื่นอยู่กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น กำลังเป็นไปอยู่ กำลังรับรู้ หรือกำลังกระทำในปัจจุบันทันทุกๆ ขณะ ส่วนในที่นี้ การบรรยายเพ่งถึงการใช้ความคิด และเนื้อหาของความคิด ที่สติระลึกรู้กำหนดอยู่นั้น

ข้อที่จะต้องทำความเข้าใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับวิธีคิดแบบนี้ ก็คือ การที่มีผู้เข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมายของการเป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือมีปัจจุบันธรรมเป็นอารมณ์ โดยเห็นไปว่า พระพุทธศาสนาสอนให้คิดถึงสิ่งที่อยู่เฉพาะหน้า กำลังเป็นไปในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ให้คิดพิจารณา เกี่ยวกับอดีตหรืออนาคต ตลอดจนไม่ให้คิดเตรียมการหรือวางแผนงานเพื่อกาลภายหน้า

เมื่อเข้าใจผิดแล้ว ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ก็เลยปฏิบัติผิดจากหลักพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นบุคคลภายนอกมองเข้ามา ก็เลยเพ่งว่าถึงผลร้ายต่างๆ ที่พระพุทธศาสนาจะนำมาให้แก่หมู่ชนผู้ปฏิบัติ

กล่าวโดยสรุป ความหมายที่ควรเข้าใจเกี่ยวกับปัจจุบัน อดีต และอนาคต สำหรับการใช้ความคิดแบบที่ ๙ นี้ มีดังนี้ 1362

- ความคิดที่ไม่อยู่กับปัจจุบัน คือความคิดที่เกาะติดอดีตและเลื่อนลอยไปในอนาคตนั้น มีลักษณะสำคัญที่พูดได้สั้นๆ ว่า เป็นความคิดในแนวทางของตัณหา หรือคิดด้วยด้วยอำนาจตัณหา คิดไปตามความรู้สึก หรือใช้คำสมัยใหม่ว่า ตกอยู่ใต้อำนาจอารมณ์1363 โดยมีอาการหวนละห้อยโหยหาอาลัยอาวรณ์ถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว เพราะความเกาะติดหรือค้างคาในรูปใดรูปหนึ่ง หรือเคว้งคว้างเลื่อนลอยฟุ้งซ่านไปในภาพที่ฝันเพ้อปรุงแต่ง ซึ่งไม่มีฐานแห่งความเป็นจริงในปัจจุบัน เพราะอึดอัดไม่พอใจสภาพที่ประสบอยู่ ปรารถนาจะหนีจากปัจจุบัน

ส่วนความคิดชนิดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีลักษณะที่พูดสั้นๆ ได้ว่า เป็นการคิดในแนวทางของความรู้ หรือคิดด้วยอำนาจปัญญา ถ้าคิดในแนวทางของความรู้ หรือคิดด้วยอำนาจปัญญาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปอยู่ในขณะนี้ หรือเป็นเรื่องล่วงไปแล้ว หรือเป็นเรื่องของกาลภายหน้า ก็จัดเข้าในการอยู่กับปัจจุบันทั้งนั้น

ดังจะเห็นได้ชัดเจนว่า ความรู้ การคิด การพิจารณาด้วยปัญญา เกี่ยวกับเรื่องอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตก็ตาม เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และมีความสำคัญตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาในทุกระดับ ตั้งแต่ในระดับชีวิตประจำวัน เช่น การสั่งสอนเกี่ยวกับบทเรียนจากอดีต ความไม่ประมาทระมัดระวังป้องกันภัยในอนาคต เป็นต้น จนถึงในระดับการรู้แจ้งสัจธรรม ตลอดจนการบำเพ็ญพุทธกิจ เช่น ปุพเพนิวาสานุสติญาณ (รู้อดีต) อตีตังสญาณ (รู้อดีต) อนาคตังสญาณ (รู้อนาคต) เป็นต้น


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |